อาการเครียดไม่รู้ตัว วิธีสังเกตอาการและวิธีรับมือก่อนส่งผลต่อสุขภาพ

อาการเครียดไม่รู้ตัว เป็นอาการที่เกิดจากความคิด ความกังวลถึงเรื่องเลวร้ายต่าง ๆ เป็นประจำโดยไม่รู้ตัว จนส่งผลให้เกิดความเครียดเรื้อรังและปัญหาสุขภาพ ทั้งยังอาจทำให้ไม่รู้ว่าอาการต่าง ๆ ที่ร่างกายแสดงออก เช่น ปวดหัว ปวดท้อง อ่อนเพลีย มีปัญหาการนอนหลับ มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ไปจนถึงมีอารมณ์ที่แปรปรวน

ความเครียดคือการตอบสนองของร่างกายเมื่อเผชิญกับความกดดัน หรืออยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกว่าไม่สามารถจัดการและควบคุมได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเคยเจอ โดยความเครียดเล็กน้อยอาจช่วยให้เกิดความกระตือรือร้น แต่ความเครียดที่มากไปและเกิดขึ้นต่อเนื่องอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ ดังนั้น การตระหนักว่าตนเองมีความเครียดอยู่จะช่วยให้จัดการกับความเครียดได้ดียิ่งขึ้น 

Unconscious Stress

สัญญาณของอาการเครียดไม่รู้ตัว

อาการเครียดไม่รู้ตัวอาจทำให้เราไม่ทราบว่า อาการป่วยหรือการเปลี่ยนทางอารมณ์และพฤติกรรมอาจมีสาเหตุจากความเครียดได้ และละเลยที่จะหาวิธีแก้ไขความเครียดนั้น ดังนั้น หากสงสัยว่าตัวเองกำลังมีความเครียดอยู่ สามารถเริ่มจากการสังเกตอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดหัว มึนหัว หรือปวดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ รวมถึงอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เช่น ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย 
  • กินน้อยหรือกินมากไปทำให้น้ำหนักลดหรือขึ้นอย่างกะทันหัน รวมถึงยังอาจมีปัญหาในการนอน โดยความเครียดอาจทำให้นอนน้อยหรือนอนมากเกินไป  
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทำให้อ่อนเพลีย เป็นหวัดเป็นไข้บ่อยครั้ง 
  • หงุดหงิดหรือโกรธง่าย วิตกกังวลและซึมเศร้า  
  • เสียสมาธิง่าย ลืมง่าย  จำอะไรไม่ค่อยได้ ขาดแรงจูงใจรวมถึงไม่กล้าตัดสินใจในการทำสิ่งต่าง ๆ 

วิธีรับมือเมื่อมีความเครียด

เมื่อรู้ว่ามีอาการเครียดไม่รู้ตัวแล้ว ควรหาวิธีจัดการกับความเครียดเพื่อป้องกันไม่ให้ความเครียดส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจมากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

1. หาสาเหตุของความเครียด

แม้ว่าความเครียดไม่รู้ตัวหรือความกังวลต่าง ๆ อาจหยุดลงได้เมื่อตระหนักว่าตัวเองมีความเครียดอยู่ แต่หากปล่อยไว้เฉย ๆ ความคิดกังวลก็อาจกลับมาอีกครั้งโดยไม่รู้ตัวได้ ดังนั้น การหาสาเหตุของความเครียดให้พบ เช่น ความเครียดจากการทำงาน การดูแลผู้ป่วย การเงิน หรือการเรียน อาจช่วยให้เราเรียบเรียงความคิด เปลี่ยนมุมมองเดิม และเห็นหนทางแก้ปัญหาได้มากขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อได้พิจารณาสาเหตุของความเครียดแล้ว ก็อาจทำให้เห็นว่าสาเหตุของความเครียดบางอย่างไม่สามารถควบคุมได้ด้วยตัวเราเอง ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถปล่อยวาง ไม่พยายามควบคุมปัญหาเหล่านั้น และปรับตัวเพื่อให้รับมือกับมันได้ดีขึ้นแทน 

2. หาเวลาพักผ่อน

การแบ่งเวลาให้ตนเองได้หยุดพักผ่อนจะช่วยให้พาตัวเองออกจากความเครียดหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดได้ โดยอาจใช้เวลาที่พักผ่อนทำงานอดิเรกสิ่งที่ตัวเองชอบ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง วาดรูป เล่นดนตรี หรือไปท่องเที่ยว โดยการทำสิ่งที่ชอบจะช่วยเพิ่มความสุข และทำให้สุขภาพจิตดียิ่งขึ้น

3. ใช้เวลาพบปะพูดคุยกับคนที่พร้อมรับฟัง

การใช้เวลาเพื่อพบปะพูดคุยกับบุคคลที่พร้อมรับฟังความเครียดของเรา เช่น ครอบครัว เพื่อน คนรัก สามารถช่วยให้ความเครียดลดลงไปได้ นอกจากจะได้ระบายสิ่งที่ทำให้เครียดออกไปแล้ว ผู้ที่รับฟังยังอาจมองเห็นปัญหาในมุมมองอื่น ๆ หรือเห็นทางออกของปัญหาที่เราอาจไม่สังเกต ทั้งยังช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดอีกด้วย

4. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายระดับปานกลางอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที และนอนหลับ 7—9 ชั่วโมงต่อวัน จะช่วยเรื่องความเครียดและทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารไม่ครบมื้อ การนอนน้อย ซึ่งส่งผลให้สุขภาพเสีย อารมณ์ไม่ดี และนำไปสู่ความเครียดที่เพิ่มขึ้น 

5. เรียนรู้เทคนิคผ่อนคลายตัวเอง

การเรียนเทคนิคต่าง ๆ เช่น การเรียนโยคะ การนั่งสมาธิ และการฝีกหายใจ ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย และสามารถลดความเครียดได้ โดยโยคะเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยสร้างสมาธิ ด้วยการจดจ่อกับการขยับร่างกายเป็นท่าต่าง ๆ ทำให้จิตใจสงบ ส่วนการนั่งสมาธิช่วยลดความเครียด ทำให้อารมณ์ดี รวมถึงทำให้หลับง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง

การฝึกหายใจช่วยทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนเข้าสู่สมองมากขึ้น ซึ่งทำให้ระบบประสาทที่ควบคุมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่อนคลาย และตอบสนองต่อความเครียดน้อยลง โดยการฝึกหายใจเพื่อลดความเครียด สามารถทำได้ด้วยการหลับตา วางมือลงบนอกและหน้าท้อง หายใจเข้าออกทางจมูกช้า ๆ สัมผัสความรู้สึกที่หน้าท้องขยายออกและผ่อนลง จากนั้นทำซ้ำจนกว่าจะหายจากความเครียด

ความคิดกังวลเรื่องต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัวจนนำไปสู่ความเครียดนั้นเป็นสิ่งที่ควรระวัง เพราะอาจทำให้เกิดผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต ดังนั้นเราจึงควรใส่ใจสัญญาณของอาการเครียดไม่รู้ตัว เพื่อตระหนักถึงความเครียดและรับมือกับมันก่อนจะส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว อย่างไรก็ตาม หากรู้ว่ามีอาการเครียดต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ และไม่สามารถจัดการด้วยตนเองได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา