อาหารบำรุงตับ สิ่งที่ควรกิน และประเภทอาหารที่ควรเลี่ยง

ตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง ทั้งกำจัดสารพิษ ผลิตน้ำดี และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาหารบำรุงตับจึงมีความสำคัญ เพราะช่วยส่งเสริมสุขภาพตับให้ทำงานได้เป็นปกติ ป้องกันการเกิดโรครุมเร้าและปัญหาสุขภาพ ดังนั้น ควรเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมและถูกหลักโภชนาการ เพื่อช่วยบำรุงตับให้แข็งแรงและส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมด้วย

Food Good for Liver

บำรุงตับด้วยผักตระกูลกะหล่ำ

ผักตระกูลกะหล่ำอาจช่วยเพิ่มเอนไซม์ล้างพิษในตับ ช่วยให้ตับทำงานเป็นปกติ ขับสารพิษออกจากร่างกาย และป้องกันตับได้รับความเสียหาย โดยผักในตระกูลนี้ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี ได้แก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี หและกะหล่ำดอก เป็นต้น

โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาการทำงานของตับจากผลของการรับประทานอาหารเสริมต้นอ่อนของบล็อคโคลี่ พบว่าอาสาสมัครที่มีภาวะไขมันพอกตับมีค่าเอนไซม์ตับลดลงหลังรับประทานสารสกัดดังกล่าวเป็นเวลา 2 เดือนเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน ซึ่งค่าเอนไซม์ตับที่ลดลงอาจแสดงให้เห็นว่าผักตระกูลกะหล่ำอาจช่วยส่งเสริมการทำงานของตับได้

นอกจากนี้ งานวิจัยเดียวกันยังได้ทดลองให้อาหารเสริมชนิดเดียวกันกับหนูทดลองที่เป็นภาวะตับวายเรื้อรัง หลังผ่านไป 4 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดจากต้นอ่อนบร็อคโคลี่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดตับวายเรื้อรัง และลดการเกิดสารอนุมูลอิสระที่เป็นต้นเหตุความเสียหายของเซลล์ในร่างกายได้

บำรุงตับด้วยชาเขียว

ชาเขียวอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารคาเทชิน (Catechins) ที่อาจช่วยยับยั้งการดูดซึมไขมันของร่างกาย ลดการสะสมไขมันในร่างกาย ลดการสะสมไขมันที่ตับ รวมทั้งอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งบางชนิดได้ โดยมีการทดลองหนึ่งให้ผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ดื่มชาเขียวที่มีสารคาเทชินในปริมาณต่างกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าการดื่มชาเขียวที่มีสารคาเทชินสูงช่วยให้ระดับไขมันในร่างกายและค่าเอนไซม์ตับลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ดื่มชาเขียวหรือกลุ่มที่ดื่มชาเขียวที่มีสารคาเทชินอยู่น้อย

ขณะเดียวกัน มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับการดื่มชาเขียวและความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับ พบว่าคนที่ดื่มชาเขียวมีแนวโน้มเกิดโรคมะเร็งตับน้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม โดยเฉพาะการดื่มชาเขียวประมาณ 4 ถ้วยต่อวัน แต่ก็ควรระมัดระวังในการดื่มหรือรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากชาเขียวด้วย และไม่ควรบริโภคมากเกินไป เพราะมีรายงานเกี่ยวกับความเสียหายของตับที่เกิดจากการใช้สารสกัดจากชาเขียวในรูปแบบอาหารเสริม ซึ่งก่อนการรับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนเสมอ

บำรุงตับด้วยขมิ้น

ขมิ้นประกอบด้วยสารเคอร์คูมิน (Curcumin) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งอาจช่วยป้องกันตับไม่ให้ได้รับความเสียหายและลดความเสี่ยงของโรคตับ โดยมีงานวิจัยหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับสารสกัดจากขมิ้นและสารเคอร์คูมินในหนูทดลองที่ตับได้รับสารพิษ พบว่าสารทั้ง 2 ชนิดช่วยลดค่าเอนไซม์ตับและเพิ่มระดับสารกลูทาไธโอน ซึ่งช่วยลดการอักเสบและการทำลายเซลล์ตับได้

เช่นเดียวกับการศึกษาอีกชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ที่ได้รับประทานอาหารเสริมจากสารเคอร์คูมินเป็นเวลา 8 สัปดาห์มีอาการดีขึ้นจากการตรวจวัดค่าต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ปริมาณการสะสมไขมันของร่างกายลดลง ค่าเอนไซม์ตับลดลง เป็นต้น โดยค่าเหล่านี้สะท้อนถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะตับอักเสบน้อยลงไปด้วย

อาหารบำรุงตับ ช่วยได้จริงหรือ ?

แม้ว่าผลจากงานวิจัยข้างต้นได้ระบุถึงคุณสมบัติในการบำรุงตับของผักตระกูลกะหล่ำ ชาเขียว และขมิ้น แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันประสิทธิผลทางการแพทย์ของอาหารเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน เพราะการทดลองมีกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก และบางส่วนก็ทดลองในสัตว์ จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมให้แน่ชัด ก่อนนำอาหารดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เพื่อการดูแลรักษาและบำรุงตับของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม อาหารบำรุงตับข้างต้นมีคุณค่าทางโภชนาการด้านอื่น ๆ ด้วย จึงควรรับประทานอาหารดังกล่าวร่วมกับอาหารอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนหลากหลาย แต่หากต้องการรับประทานอาหารเสริมหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่กล่าวอ้างสรรพคุณด้านการส่งเสริมสุขภาพตับ เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงก่อนรับประทานหรือนำไปใช้เสมอ

อาหารแบบไหนไม่ดีต่อตับ ?

อาหารบางประเภทส่งผลเสียต่อการทำงานของตับ การเลี่ยงหรือการจำกัดปริมาณให้รับประทานอาหารในกลุ่มต่อไปนี้แต่น้อย อาจส่งผลดีต่อสุขภาพตับและร่างกายโดยรวมได้

  • ไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) ซึ่งพบได้มากในของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เนย ครีมเปรี้ยว หรือผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันสูง  
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลอยู่มาก เช่น น้ำอัดลม คุกกี้ น้ำหวาน เบเกอรี่ ลูกอม น้ำผลไม้ เป็นต้น
  • อาหารโซเดียมสูง อย่างอาหารที่มีเกลือมาก หรืออาหารแปรรูป เช่น อาหารกระป๋อง ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ขนมขบเคี้ยว ซอสปรุงรส เป็นต้น
  • แป้งขัดสีหรือข้าวขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว เส้นพาสต้า เป็นต้น

วิธีดูแลสุขภาพตับให้แข็งแรง

นอกจากการเลือกรับประทานอาหาร สามารถดูแลตับให้มีสุขภาพแข็งแรงได้หลายวิธี ดังนี้

ระมัดระวังในการใช้ยา ตับเป็นอวัยวะที่ช่วยกรองของเสียและสารพิษต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกาย การใช้ยาตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัดจะช่วยถนอมตับไม่ให้ทำงานหนักมากเกินไป และไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่ต้องรับประทานยา

จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮฮล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วันละนิดแต่เป็นระยะเวลานานอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคตับแข็งหรือภาวะตับอักเสบรุนแรงจากแอลกอฮอล์ได้ ทางที่ดีควรจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณพอดี โดยผู้ชายไม่ควรดื่มมากกว่า 4 หน่วยมาตรฐานต่อวัน และผู้หญิงไม่ควรดื่มมากกว่า 2 หน่วยมาตรฐานต่อวัน

ไม่ใช้เข็มฉีดยาหรือเข็มสักร่วมกับผู้อื่น เชื้อไวรัสตับอักเสบสามารถติดต่อกันได้ผ่านเลือดหรือของเหลวจากผู้ที่ติดเชื้อ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์บางอย่างที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อร่วมกับผู้อื่น และรักษาสุขอนามัยของร่างกายอยู่เสมอ

ใช้ถุงยางอนามัย หากมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยเพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อไวรัสต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อตับ

ควบคุมน้ำหนัก โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มีความเกี่ยวข้องกับโรคในระบบเผาผลาญ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นต้น การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะไขมันพอกตับได้

ใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย หากต้องใช้หรือสัมผัสกับสารพิษและสารเคมีต่าง ๆ ควรใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมมิดชิดและสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก ถุงมือ แว่นตา เป็นต้น เพื่อไม่ให้สารเคมีเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง และต้องปฏิบัติตามวิธีใช้งานของสารแต่ละชนิดอย่างเคร่งครัด

ฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบ การฉีดวัคซีนอาจช่วยป้องกันตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสได้ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบี เพราะเป็นชนิดที่มีความรุนแรง และตับอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่สามารถป้องกันได้