เดจาวู ไขความลับวิทยาศาสตร์ของระลึกพิศวง

หลายคนคงเคยประสบกับปรากฏการณ์น่าพิศวงที่เรียกว่า เดจาวู ซึ่งเป็นความรู้สึกราวกับว่าเคยอยู่ในเหตุการณ์ สถานที่ หรือเคยมีบทสนทนาที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ทั้ง ๆ ที่เพิ่งไปยังสถานที่นั้นเป็นครั้งแรก เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิต หรือเป็นการพูดคุยกับคนที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน แต่ในทางวิทยาศาสตร์ เดจาวูคืออะไรกันแน่ และเกิดขึ้นได้อย่างไร ศึกษาได้จากข้อมูลต่อไปนี้

Dejavu

เดจาวู คือ อะไร ?

คำว่า เดจาวู (Déjà vu) มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่าเคยเห็นมาก่อนแล้ว ซึ่งแม้หลายคนจะรู้สึกว่าตนเคยเผชิญสถานการณ์ดังกล่าวมาก่อน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และบางครั้งก็แน่ใจว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะไม่เคยไปยังสถานที่นั้น ๆ หรือเป็นการพูดคุยกับคู่สนทนาเป็นครั้งแรกในชีวิตด้วยซ้ำ จึงชวนให้สงสัยว่าความรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าผู้ที่มีสุขภาพดีประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เคยเกิดความรู้สึกแปลกประหลาดแบบเดจาวู โดยมักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงวัยที่มีอายุ 15-25 ปี และจะค่อย ๆ เกิดขึ้นน้อยลงเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าส่วนใหญ่เกิดจากการรับความรู้สึกผ่านภาพ เช่น รู้สึกเหมือนเคยเห็นสถานที่ที่เพิ่งไปเยือนครั้งแรกมาก่อน หรือรู้สึกคุ้นเคยเมื่อเห็นรูปสถานที่ สิ่งของ หรือคนที่ไม่รู้จัก เป็นต้น นอกจากนี้ อาจเกิดขึ้นได้แม้เพียงได้ยินคำศัพท์ที่ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร

เดจาวู เกิดจากอะไร ?

สาเหตุของปรากฏการณ์เดจาวูยังค่อนข้างเป็นปริศนา เพราะไม่มีการศึกษาวิจัยในด้านนี้มากนัก ทั้งยังเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ทดสอบได้ยาก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ก็ได้พยายามอธิบายการเกิดปรากฏการณ์เดจาวูโดยอ้างอิงจากหลากหลายทฤษฎี ดังนี้

มีประสบการณ์ที่คล้ายกันมาก่อน

นักวิจัยบางคนเชื่อว่าการอยู่ในเหตุการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในอดีตเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดเดจาวู เช่น อยู่ในบริเวณล็อบบี้โรงแรมที่มีรูปแบบการจัดวางเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งต่าง ๆ เหมือนห้องนั่งเล่นที่บ้านในวัยเด็ก เป็นต้น

นอกจากนี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทดลองให้อาสาสมัครดูรูปสถานที่ที่ตนเองไม่เคยมีอดีตหรือความทรงจำเกี่ยวข้องมาก่อน โดยเปรียบเทียบกับการให้ดูรูปสถานที่แบบเดียวกันหรือคล้ายกับที่เคยเห็นมาก่อน ผลปรากฏว่าอาสาสมัครเกิดความรู้สึกเดจาวูกับรูปสถานที่ที่พวกเขาคุ้นเคย จึงเป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์เดจาวูนั้นมีความเชื่อมโยงกับประสบการณ์ในอดีตที่คล้ายคลึงกัน

คุ้นเคยจากการเดินทางท่องเที่ยว

ผู้ที่ชื่นชอบการเดินทางและเคยท่องเที่ยวในหลากหลายสถานที่มีแนวโน้มจะเกิดความรู้สึกแบบเดจาวูมากกว่าผู้ที่ชอบพักผ่อนอยู่กับบ้าน เนื่องจากได้พบเห็นสถานที่และสิ่งต่าง ๆ มากมาย ซึ่งความทรงจำเหล่านี้จะทำให้เกิดความคุ้นเคยกับภาพสถานที่ที่เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรกได้ง่าย

จดจำความฝัน

ผู้ที่จดจำความฝันของตนเองได้ดีอาจมีโอกาสเกิดเดจาวูได้มากกว่าผู้ที่ตื่นมาแล้วจำความฝันไม่ได้เลย ซึ่งอธิบายได้ด้วยหลักการเดียวกันกับการเดินทางไปตามสถานที่ที่หลากหลาย เพราะภาพในความฝันก็อาจเป็นความทรงจำที่ก่อให้เกิดความคุ้นเคยต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายเช่นกัน

สมองทำงานผิดปกติ

ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่าการทำงานของเซลล์ประสาทที่ขัดข้องอาจกระตุ้นให้เกิดเดจาวูได้ โดยเกิดขึ้นเมื่อสมองไม่สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้อย่างราบรื่น ทำให้จัดเรียงข้อมูลต่าง ๆ อย่างไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยบางคนที่มีอาการลมชักแบบเฉพาะที่บริเวณสมองส่วนที่ควบคุมความทรงจำระยะสั้นก็เผชิญกับความรู้สึกแบบเดจาวูก่อนจะมีอาการชัก และยังพบว่าผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะภาวะสมองส่วนหน้าเสื่อมก็มักเกิดเดจาวูอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่ปรากฏการณ์นี้อาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง

เดจาวู อันตรายหรือไม่ ?

โดยทั่วไป ปรากฏการณ์เดจาวูมักไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่บางครั้งอาจเป็นสัญญาณของโรคลมชักหรือปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้ ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์หากสังเกตพบอาการผิดปกติดังต่อไปนี้

  • เกิดเดจาวูบ่อยครั้ง เดือนละ 2-3 ครั้งหรือมากกว่านั้น
  • เกิดเดจาวูขึ้นพร้อมกับเห็นภาพความทรงจำคล้ายความฝัน

มีอาการหมดสติ ขยับปากเคี้ยวโดยไม่รู้ตัว มือสั่น มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย หัวใจเต้นเร็ว หรือรู้สึกกลัวหลังจากเกิดเดจาวู