เตรียมตัวคลอดทำอย่างไร และเตรียมอะไรไปโรงพยาบาลบ้าง ?

การเตรียมตัวคลอดอาจเป็นวิธีที่ช่วยให้คุณแม่คลายความเครียดและความวิตกกังวลในหลาย ๆ เรื่องได้ เพราะแม้จะมีกำหนดคลอดที่ชัดเจนแล้ว แต่ในบางครั้งการคลอดก็เป็นสิ่งที่ยากต่อการคาดการณ์ว่าจะเกิดเมื่อไหร่และเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้ดีก็อาจช่วยให้ว่าที่คุณแม่รู้สึกมั่นใจมากขึ้น และช่วยให้ช่วงเวลาที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด เช่น เรียนรู้ขั้นตอนการคลอดบุตร ศึกษาเส้นทางไปโรงพยาบาล หรือจัดกระเป๋าเตรียมคลอด เป็นต้น

Prepare for Labour

เตรียมตัวคลอดอย่างไรดี ?

เมื่อกำหนดคลอดใกล้เข้ามา การเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุดอาจช่วยให้คุณแม่รับมือกับปัญหาต่าง ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้  โดยอาจเตรียมตัวคลอดด้วยวิธีดังต่อไปนี้

เรียนรู้ขั้นตอนการคลอดบุตร

คุณแม่ควรเริ่มเรียนรู้ขั้นตอนการคลอดลูกในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่เมื่อเข้าสู่อายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ เพราะอาจช่วยให้เข้าใจระยะของการคลอด เรียนรู้วิธีจัดการกับความเจ็บปวด เทคนิคการหายใจ เทคนิคการผ่อนคลาย หรือรู้จักอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่อาจต้องใช้ในระหว่างคลอด โดยอาจศึกษาจากวิดีโอที่เชื่อถือได้ หรืออาจเข้าชั้นเรียนที่เปิดสอนในด้านการเตรียมตัวคลอดโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยไขข้อสงสัยหรือหาทางออกสำหรับความกังวลใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการคลอด

ปรึกษากับคุณแม่ที่มีประสบการณ์
การพูดคุยกับคุณแม่ท่านอื่น ๆ ถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ทั้งระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด และหลังคลอด อาจช่วยให้รับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดได้ดีขึ้น เช่น ปัญหาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ปัญหาการปัสสาวะหรือมีความต้องการทางเพศลดลง เป็นต้น

ศึกษาวิธีการให้นมลูกในเบื้องต้น

ทารกที่คลอดออกมาอาจไม่สามารถเริ่มดูดนมได้ในทันที ทั้งคุณแม่และทารกจึงต้องเรียนรู้วิธีการดูดนมและให้นมระยะหนึ่ง ซึ่งการศึกษาวิธีให้นมลูกอย่างถูกต้องในเบื้องต้นอาจช่วยให้คุณแม่มือใหม่รับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการให้นมหลังคลอดได้

พูดคุยกับลูกคนอื่น ๆ และจัดระเบียบสัตว์เลี้ยงในบ้าน
ลูก ๆ อาจยังไม่เข้าใจถึงการมีสมาชิกใหม่ในครอบครัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการปรับความเข้าใจในด้านต่าง ๆ ประมาณ 2-3 เดือนก่อนคลอด และหากมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน เจ้าของอาจต้องศึกษาวิธีการสอนสัตว์เลี้ยงให้อยู่ร่วมกับสมาชิกใหม่ในบ้านอย่างทารกได้ ซึ่งอาจศึกษาได้จากหนังสือ บทความ หรือคลิปวิดีโอ และอาจพาสัตว์เลี้ยงไปเข้าชั้นเรียนกับครูฝึกผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะได้เช่นกัน

วางแผนการเดินทางและการใช้ยานพาหนะไปโรงพยาบาล

ควรวางแผนว่าจะเดินทางไปโรงพยาบาลอย่างไรให้สะดวกและปลอดภัยทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ตรวจสมรรถภาพรถยนต์และเติมน้ำมันให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ และเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับค่าที่จอดรถด้วย รวมถึงอาจปรึกษาขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านเพื่อเป็นแผนสำรองไว้หากเกิดเหตุขัดข้องใด ๆ ขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงการโทรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน แต่ควรเตรียมความพร้อมทำตามแผนด้วยตนเองก่อน และเรียกรถพยาบาลต่อเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจริง ๆ เท่านั้น

ศึกษาเส้นทางไปโรงพยาบาล
อาจลองสำรวจก่อนว่าเส้นทางไปโรงพยาบาลที่จะคลอดนั้นกำลังปรับปรุงเส้นทางอยู่หรือไม่ และมีสภาพการจราจรเป็นอย่างไร เพื่อให้เตรียมเส้นทางสำรองอื่น ๆ เผื่อไว้ได้ สำรวจที่จอดรถที่สามารถเข้าสู่ตัวอาคารของโรงพยาบาลได้สะดวกที่สุด และศึกษาเกี่ยวกับกฎพื้นฐานของโรงพยาบาลและห้องคลอดต่าง ๆ ที่ควรรู้

จดรายชื่อเบอร์ติดต่อที่สำคัญ

ควรจดรายชื่อเบอร์ติดต่อที่สำคัญไว้ใกล้ตัว ในกระเป๋าถือ หรือบันทึกไว้ในโทรศัพท์ เพื่อให้สะดวกต่อการค้นหาในกรณีฉุกเฉิน เช่น เบอร์โรงพยาบาล เบอร์สามี หรือเบอร์ผู้เฝ้าไข้ เป็นต้น

เตรียมเครื่องนอนและเสื้อผ้าทารก

ซื้อและติดตั้งคอกสำหรับเด็ก ที่นอน หรือเปลเด็กให้เรียบร้อย โดยตรวจดูให้ดีว่าติดตั้งถูกวิธีและได้มาตรฐานหรือไม่ พร้อมซักทำความสะอาดเครื่องนอนต่าง ๆ อย่างผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน รวมถึงผ้าอ้อมและเสื้อผ้าของทารกด้วย โดยอาจซักผ้าแต่ละชนิดแยกกัน และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าปลอดสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก

หาผู้ช่วยแบ่งเบาภาระหลังคลอด

ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอดอาจต้องหาหรือจ้างผู้ช่วยมาดูแลแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ในบ้าน เช่น คนทำความสะอาดบ้านและดูแลสัตว์เลี้ยง พี่เลี้ยงเด็กสำหรับลูกคนอื่น ๆ หรือพี่เลี้ยงเด็กตอนกลางคืนสำหรับดูแลทารกแรกเกิด เป็นต้น ซึ่งการหาคนมาช่วยดูแลหรือจ้างวานผู้ช่วยมาทำหน้าที่ต่าง ๆ อาจช่วยให้คุณแม่เหนื่อยน้อยลง ลดความกังวลด้านต่าง ๆ และช่วยให้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้นด้วย

ซื้อตุนสิ่งของสำคัญต่าง ๆ

เมื่อกลับมาบ้านหลังคลอด คุณแม่อาจต้องยุ่งอยู่กับการดูแลทารกและต้องการพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งการซื้อของใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ เข้ามาเตรียมไว้ในบ้าน เช่น กระดาษทิชชู่ ผ้าอนามัย เสื้อชั้นในให้นมลูก แผ่นซับน้ำนม ขวดนม หรือผ้าอ้อมเด็ก จะช่วยลดภาระในการออกไปหาซื้อของใช้เพิ่มเติม และอาจทำอาหารแช่แข็งไว้อุ่นรับประทานในช่วงนี้ด้วย เพื่อประหยัดเวลาในการทำกับข้าว

จัดกระเป๋าเตรียมคลอด

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการจัดกระเป๋าเตรียมตัวคลอด เพื่อเตรียมของสำคัญต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในโรงพยาบาลสำหรับตนเอง ผู้ที่มาเฝ้าไข้ และทารกแรกเกิด โดยข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ควรจัดใส่กระเป๋าเตรียมคลอด มีดังนี้

สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับคุณแม่ที่เตรียมคลอด และผู้ที่มาเฝ้าไข้

  • บัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน
  • สมุดฝากครรภ์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น บัตรประกันสุขภาพ เป็นต้น
  • เสื้อชั้นในสำหรับให้นมลูก
  • เครื่องใช้ในห้องน้ำ ลิปมัน ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมต่าง ๆ และยางรัดผม
  • ชุดสำหรับใส่ในวันกลับ
  • โทรศัพท์มือถือและสายชาร์จ
  • กล้องถ่ายภาพ หรือกล้องวิดีโอบันทึกภาพเคลื่อนไหว หากต้องการบันทึกภาพกับลูกน้อย
  • หนังสือ นิตยสาร หนัง หรือเพลง เพื่อความผ่อนคลาย
  • เงินสด

สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับทารกแรกเกิด

  • ชุดนอนของทารกแรกเกิด
  • ผ้าห่อตัวเด็ก หรือผ้ามัสลิน
  • หมวกสำหรับทารกแรกเกิด
  • ผ้าอ้อม
  • สำลี
  • ชุดสำหรับให้เด็กใส่ในวันกลับ

สิ่งของที่ไม่ควรนำไปโรงพยาบาล

  • เครื่องประดับ
  • ของมีค่า หรือเงินสดจำนวนมาก
  • ยา หรือวิตามินต่าง ๆ ยกเว้นเมื่อต้องไปโรงพยาบาลที่ไม่เคยไปมาก่อน หรือไม่มีประวัติการรักษาอยู่

หลังคลอดแล้ว คุณแม่จะถูกย้ายไปแผนกหลังคลอด โดยให้ผู้ที่มาเฝ้าไข้นำสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ไม่ใช้แล้วกลับไปเก็บ เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับวางอุปกรณ์หรือของใช้หลังคลอดอื่น ๆ

ด้วยการเตรียมตัวคลอดอย่างรอบคอบ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้คุณแม่รวมถึงคนรอบข้างสามารถรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ในวันพิเศษที่รอคอยมานานได้เป็นอย่างดี