วุ้นในตาเสื่อมเป็นภาวะผิดปกติทางดวงตาที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมองเห็นจุดเล็ก ๆ หรือรอยที่มีรูปร่างคล้ายหยากไย่ลอยไปมา โดยอาจเป็นสีดำหรือโปร่งใส และจะเคลื่อนตัวตามการกลอกตาของผู้ป่วย โดยอาการจะยิ่งเห็นได้ชัดมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมองไปยังบริเวณที่มีแสงสว่าง
วุ้นในตาเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไป แต่มักจะพบได้มากในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่แล้วอาการจากภาวะวุ้นในตาเสื่อมมักไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงใด ๆ ต่อร่างกาย เพียงแต่สร้างความรำคาญหรือทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเป็นกังวลเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี อาการวุ้นในตาเสื่อมอาจเป็นผลมาจากสาเหตุอื่นที่มีความรุนแรงและควรได้รับการรักษาทันที เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับภาวะวุ้นในตาเสื่อมมาให้ได้ศึกษากัน
ภาวะวุ้นในตาเสื่อมเกิดจากอะไร
วุ้นตาเป็นส่วนประกอบหนึ่งภายในลูกตา มีลักษณะเป็นของเหลวอยู่ในช่องด้านหลังลูกตา และมีหน้าที่ช่วยคงรูปของลูกตา แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น บางส่วนของวุ้นตาจะเริ่มเสื่อมกลายเป็นน้ำและเริ่มหดตัวลง ซึ่งกลไกนี้อาจทำให้วุ้นตาดึงผิวจอตาจนส่งผลให้เกิดอาการมองเห็นแสงกะพริบคล้ายแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป โดยอาการนี้สามารถเห็นได้ทั้งขณะที่ลืมตาหรือหลับตา แต่จะยิ่งเห็นได้ชัดเมื่ออยู่ในที่มืดหรือในเวลากลางคืน
โดยส่วนใหญ่ กลไกการเกิดวุ้นในตาเสื่อมดังกล่าวมักเป็นผลมาจากการที่อวัยวะเสื่อมสภาพไปตามวัย ซึ่งจะพบได้มากในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อมก่อนวัยได้เช่นกัน เช่น อาการตาล้าจากการใช้สายตาอย่างหนัก ภาวะสายตาสั้น ประวัติการผ่าตัดโรคต้อกระจก (Cataracts) หรือโรคเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีซึ่งพบได้น้อยมาก อาการลักษณะนี้อาจเป็นผลมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะวุ้นในตาเสื่อมได้เช่นกัน เช่น
- การเกิดอุบัติเหตุบริเวณดวงตา
- การติดเชื้อในดวงตา
- ดวงตาอักเสบ
- มีเลือดออกภายในดวงตา
- เกิดเนื้องอกภายในดวงตา
- เกิดแผลบริเวณจอตา
- ภาวะจอประสาทตาลอก
- การผ่าตัดดวงตา
- ยาบางชนิดที่ฉีดภายในวุ้นตา
ภาวะวุ้นในตาเสื่อมอันตรายหรือไม่
โดยทั่วไป ภาวะวุ้นในตาเสื่อมไม่ได้เป็นภาวะที่รุนแรง และมักไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใด ๆ เนื่องจากการรักษาอาจส่งผลข้างเคียง อีกทั้งอาการต่าง ๆ อาจยังมีโอกาสกลับมาเกิดซ้ำได้ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง จอประสาทตาเกิดการฉีกขาด อาการที่เกิดขึ้นบดบังการมองเห็นหรือส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็น แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือใช้เลเซอร์ตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน
ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายจะเป็นวุ้นในตาเสื่อม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่มีอาการผิดปกติบางอย่างร่วมด้วย เช่น เห็นแสงกะพริบ รอยจุดหรือรอยเส้นเพิ่มขึ้นผิดปกติอย่างรวดเร็ว เห็นเงาดำบริเวณรอบข้างหรือจุดกึ่งกลางของการมองเห็น รู้สึกเจ็บดวงตา หรืออาการมองเห็นรอยจุดและรอยเส้นเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดหรือเกิดอุบัติเหตุบริเวณดวงตา