เลือกอาหารคนเป็นมะเร็งอย่างไร แบบไหนควรกินหรือควรเลี่ยง

ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กำลังได้รับการรักษามักมีร่างกายที่อ่อนแอลง เนื่องจากการรักษามะเร็งบางวิธีทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่ายหรือเกิดผลข้างเคียง อย่างเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือแสบในช่องปาก การเลือกอาหารคนเป็นมะเร็งจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่จำเป็น และมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น

อาหารคนเป็นมะเร็งจะแตกต่างกับอาหารที่คนทั่วไปเล็กน้อย โดยแพทย์หรือนักโภชนาการอาจแนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มสัดส่วนการกินอาหารที่มีโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตให้มากขึ้น เพื่อช่วยซ่อมแซมร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และช่วยให้ร่างกายรับมือกับอาการต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

Food for Cancer Patients

อาหารคนเป็นมะเร็ง เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

การเลือกอาหารคนเป็นมะเร็งเบื้องต้นอาจพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้

1. อาหารโปรตีนสูง

โปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะในช่วงหลังการรักษา

ผู้ป่วยโรคมะเร็งควรเลือกกินอาหารที่มีโปรตีนสูงเป็นหลัก เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อปลา หรือเนื้อสัตว์ปีก โดยให้เลือกกินส่วนที่มีไขมันแทรกอยู่น้อย หรือกินอาหารชนิดอื่นที่เป็นแหล่งของโปรตีน เช่น ไข่ โยเกิร์ต ถั่ว หรือผลิตภัณฑ์จากนม

2. อาหารที่ให้พลังงานสูง

ในระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องกินอาหารที่ให้พลังงานมากกว่าปกติเพื่อรักษาน้ำหนักของร่างกายให้คงที่ โดยเฉพาะไขมันและคาร์โบไฮเดรต

  • ไขมัน

ไขมันเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูง มีส่วนช่วยในการลำเลียงวิตามินบางชนิดผ่านกระแสเลือด ปกป้องเซลล์เนื้อเยื่อของร่างกาย และมีประโยชน์อื่น ๆ อีก

โดยผู้ป่วยควรเน้นอาหารที่มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวหรือไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนเป็นหลัก เช่น อะโวคาโด น้ำมันมะกอก ถั่ว เต้าหู้ หรือถั่วเหลือง และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัวหรือไขมันทรานส์ เช่น ไขมันจากสัตว์ ของทอด และขนมขบเคี้ยว

  • คาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่เป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย เช่น ข้าว ขนมปัง มันฝรั่ง รวมถึงอาหารประเภทผัก ผลไม้ และธัญพืช ซึ่งนอกจากจะให้คาร์โบไฮเดรตแล้ว ยังมีวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระจากพืชบางชนิด

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณการกินอาหารที่เหมาะสมของตนเอง เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักตัวมากเกินไปหากกินเกินปริมาณความต้องการของร่างกาย

3. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

น้ำมีความสำคัญต่อกระบวนการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ และช่วยรักษาสมดุลของแร่ธาตุในร่างกาย การดื่มน้ำให้เพียงพอหรือประมาณ 2 ลิตรต่อวันจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะช่วงอากาศร้อน สูญเสียเหงื่อ มีอาการผิดปกติทางร่างกาย เช่น มีไข้ อาเจียนหรือท้องเสีย

ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มชนิดอื่น นม น้ำผลไม้ และน้ำซุป แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ รวมถึงควรกินผักผลไม้สดให้มากขึ้น เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี และแร่ธาตุอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม หากต้องการกินอาหารเสริมเพื่อให้ได้รับสารอาหารต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะยังไม่มีงานวิจัยใด ๆ ที่ยืนยันว่าการกินอาหารเสริม วิตามิน หรือพืชสมุนไพรบางชนิดจะช่วยยับยั้บ ชะลอหรือรักษาการลุกลามของมะเร็งได้ อีกทั้งอาหารเสริมบางชนิดยังอาจส่งผลกระทบต่อการรักษามะเร็งอีกด้วย

ข้อควรรู้และควรระวังเกี่ยวกับอาหารคนเป็นมะเร็ง

ผู้ป่วยโรคมะเร็งมักเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นในขณะรับการรักษา เนื่องจากโรคมะเร็งและวิธีรักษาอาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ความสะอาดของอาหารคนเป็นมะเร็งจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิดควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยอาจเลือกทำตามวิธีต่อไปนี้

  • เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่และสะอาด เช่น ตรวจดูวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์ก่อนซื้อทุกครั้ง เลือกซื้อผักผลไม้ที่ไม่มีรอยแตกช้ำและเน่าเสีย หรือไข่ที่ไม่มีรอยแตกร้าว เป็นต้น
  • ล้างมือ อุปกรณ์ทำอาหาร และวัตถุดิบให้สะอาดทั้งก่อนและหลังทำอาหารทุกครั้ง
  • แยกอุปกรณ์ทำอาหารระหว่างอาหารประเภทเนื้อสัตว์และอาหารประเภทผักผลไม้ และไม่ควรใช้ช้อนหรืออุปกรณ์ทำอาหารที่ยังไม่ได้ทำความสะอาดจากการใช้งานหรือปนเปื้อนน้ำลายจากการตักชิมมาประกอบอาหาร
  • ไม่ควรละลายเนื้อสัตว์แช่แข็งด้วยการทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง แต่อาจเลือกใช้ไมโครเวฟหรือแช่ในช่องแช่เย็นธรรมดาแทน รวมถึงไม่ควรนำเนื้อสัตว์ที่ผ่านการละลายน้ำแข็งกลับไปแช่แข็งซ้ำ
  • หากกินอาหารไม่หมด ควรรีบเก็บอาหารไว้ในตู้เย็นทันที
  • เลือกซื้อน้ำผลไม้หรือนมที่ผ่านการพาสเจอไรซ์หรือสเตอริไลซ์
  • หากกินอาหารนอกบ้าน ควรเลือกร้านที่สะอาด และหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ต้องตักร่วมกับผู้อื่นอย่างอาหารบุฟเฟ่ต์

วิธีในข้างต้นเป็นเพียงคำแนะนำในการเลือกอาหารคนเป็นมะเร็งเบื้องต้นเท่านั้น ผู้ป่วยหรือบุคคลใกล้ชิดควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม เพื่อให้แพทย์พิจารณาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับโภชนาการที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่มีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคหัวใจ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีความต้องการอาหารที่แตกต่างกัน