เอ็นโดรฟินเป็นสารที่ร่างกายหลั่งออกมาหลังออกกำลังกายและทำกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งช่วยให้รู้สึกดีหรือสบายตัวได้ แต่ไม่เพียงถูกขนานนามว่าเป็นสารแห่งความสุขแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้านอีกด้วย ทั้งบรรเทาความเจ็บปวด ช่วยให้คนท้องคลอดลูกง่ายขึ้น บรรเทาอาการซึมเศร้า คลายเครียด เพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง และยังช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย
ทำความรู้จักกับเอ็นโดรฟิน
เอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) หรือที่บางคนมักเรียกว่าเอ็นโดรฟินนั้น มาจากคำว่า Endogenous ที่หมายความว่าจากภายในร่างกาย และคำว่า Morphine ที่หมายถึงสารบรรเทาอาการปวด ดังนั้น เอ็นโดรฟิน จึงหมายถึงฮอร์โมนบรรเทาอาการปวดตามธรรมชาติที่ผลิตจากภายในร่างกาย ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ประกอบด้วยเปปไทด์กลุ่มใหญ่ที่ผลิตจากระบบประสาทส่วนกลางและต่อมใต้สมอง ร่างกายจะปล่อยสารนี้ออกมาเพื่อตอบสนองต่อความเจ็บปวดหรือความเครียด โดยจะกระจายไปทั่วตามระบบประสาท ซึ่งการหลั่งเอ็นโดรฟินทำให้รู้สึกมีความสุข เคลิบเคลิ้ม อิ่มอกอิ่มใจ คลายเครียด ทำให้อยากอาหารมากขึ้น ช่วยหลั่งฮอร์โมนเพศ และเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
นอกจากนี้ มีการแนะนำว่าเอ็นโดรฟินส่งผลให้เกิดอาการฟินในนักวิ่งมาราธอนด้วย (Runner’s High) ซึ่งเป็นความเคลิบเคลิ้ม มีความสุข หรือไร้ความรู้สึกเจ็บปวดหลังออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง และแม้จะยังเป็นที่ถกเถียงถึงบทบาทของเอ็นโดรฟินเกี่ยวกับการทำให้รู้สึกมีความสุขหรือเคลิบเคลิ้ม แต่อย่างน้อยก็ทราบได้ว่าร่างกายผลิตสารนี้ออกมาเพื่อตอบสนองต่อการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน
ประโยชน์ของเอ็นโดรฟิน
- บรรเทาความเจ็บปวด โดยสารนี้จะทำปฏิกิริยากับหน่วยรับความรู้สึกในสมอง ทำให้ร่างกายรู้สึกเจ็บปวดน้อยลง และออกฤทธิ์คล้ายกับยาแก้ปวด เช่น มอร์ฟีน หรือโคเดอีน เป็นต้น แต่เอ็นโดรฟินเป็นสารที่ร่างกายผลิตออกมาตามธรรมชาติ จึงไม่ทำให้เกิดการเสพติดเหมือนการใช้ยาบางชนิดแต่อย่างใด
- ช่วยให้คลอดลูกง่ายขึ้น แม้การคลอดลูกจะเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่รอคอย แต่ก็เต็มไปด้วยความเจ็บปวดด้วยเช่นกัน ซึ่งสารเอ็นโดรฟินจะช่วยให้คุณแม่คลอดเจ้าตัวน้อยได้ง่ายขึ้นเล็กน้อย โดยมีการศึกษาขนาดเล็กที่แสดงให้เห็นว่า ในช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีการหลั่งสารเบต้าเอ็นโดรฟินในปริมาณน้อยอาจมีความจำเป็นในการใช้ยาแก้ปวดเพิ่มขึ้นระหว่างคลอด
- บรรเทาอาการซึมเศร้า เกือบ 1 ใน 5 ของมนุษย์เราอาจเคยพบเจอกับอาการซึมเศร้ากันมาบ้าง ซึ่งการออกกำลังกายเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดนฟินออกมาเพื่อบรรเทาอาการนี้ จากการค้นคว้าพบว่าการออกกำลังกายและการหลั่งสารเอ็นโดรฟินขณะออกกำลังกายอาจช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงบทบาทของเอ็นโดรฟินต่อการรักษาอาการซึมเศร้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป
- คลายความเครียดและความวิตกกังวล ระดับเอ็นโดรฟินที่สูงขึ้นจะทำให้ผลกระทบจากความเครียดลดลง ทั้งยังช่วยให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม อยากอาหารมากขึ้น ช่วยหลั่งฮอร์โมนเพศ และเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายได้อีกด้วย
- เพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง ความรู้สึกดี ๆ ที่เจอในแต่ละวันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คิดบวกและเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ตนเองได้ ซึ่งจากการศึกษาขนาดเล็กชิ้นหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่า สารเอ็นโดรฟินที่ถูกหลั่งออกมามีส่วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นในตนเองที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย
- ลดน้ำหนัก แม้จะยังไม่ทราบชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทของเอ็นโดรฟินและฮอร์โมนอื่น ๆ ในการควบคุมความอยากอาหาร แต่การรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์อาจกระตุ้นระดับเอ็นโดรฟินในร่างกายให้เพิ่มขึ้นได้ โดยมีการวิจัยในสัตว์ทดลองที่ระบุว่า ระดับเอ็นโดรฟินที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมีส่วนช่วยในการควบคุมความอยากอาหาร ซึ่งอาจช่วยให้รู้สึกอยากอาหารน้อยลงได้
กิจกรรมใดบ้างที่ช่วยให้ร่างกายหลั่งเอ็นโดรฟิน ?
แม้ในทางวิทยาศาตร์จะยังไม่ทราบบทบาทของเอ็นโดรฟินอย่างชัดเจน แต่สารสื่อประสาทชนิดนี้ก็มีคุณประโยชน์หลายอย่าง หากร่างกายผลิตเอ็นโดรฟินไม่เพียงพอต่อความต้องการจะส่งผลกระทบทั้งทางอารมณ์และร่างกายได้ เช่น มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว ปวดเมื่อย หรือนอนไม่หลับ เป็นต้น
โดยกิจกรรมบางประการสามารถช่วยให้ร่างกายหลั่งเอ็นโดรฟินออกมาตามธรรมชาติได้ เช่น
- การออกกำลังกายทุกชนิด โดยเฉพาะออกกำลังกายเป็นกลุ่ม
- การมีเพศสัมพันธ์
- การแต่งเพลง การเล่นดนตรี การสร้างสรรค์งานศิลปะ การเต้น
- การหัวเราะ
- การนวดหรืออบซาวน่า
- การดูทีวี
- การนั่งสมาธิ
- การฝังเข็ม การดมกลิ่นหอมหรืออะโรมาเทอราพี
- การทำกิจกรรมอาสาต่าง ๆ
การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น ดาร์กช็อกโกแลต ไวน์ อาหารรสเผ็ด อาหารต่าง ๆ ที่โปรดปราน เป็นต้น