แก๊สน้ำตา ผลกระทบและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ควรรู้

เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงรู้จักแก๊สน้ำตาที่ปรากฏอยู่ในการรายงานข่าวหรือภาพยนตร์กันมาบ้าง แต่อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าแก๊สน้ำตาคืออะไร มีผลกระทบต่อสุขภาพของเราอย่างไร บทความนี้จะมาเฉลยคำตอบ พร้อมแนะนำวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องเมื่อถูกแก๊สน้ำตา 

โดยทั่วไป แก๊สน้ำตานั้นจะผลิตจากสารเคมีหลายชนิดที่มีฤทธิ์ก่อการระคายเคืองต่อเยื่อบุผิวหนัง ดวงตา  ระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร โดยแก๊สชนิดที่นิยมนำมาทำเป็นแก๊สน้ำตา เช่น

  • แก๊ส CN (Chloroacetophenone)
  • แก๊ส CS (Chlorobenzalmalononitrile
  • แก๊ส CR (Dibenzoxazepine) 
  • สารสกัดจากพริกไทย (Oleoresin Capsicum)

Tear Gas

แม้จะมีชื่อสถานะเป็นแก๊ส แต่จริง ๆ แล้วแก๊สน้ำตาในอุณภูมิห้องนั้นมีสถานะเป็นผง แต่จะถูกอัดและบรรจุอยู่ในรูปแบบลูกกระสุน ลูกระเบิดสำหรับขว้าง หรือสเปรย์ เมื่อเปิดใช้จะกลายเป็นละอองฝอยหรือกลุ่มควัน ส่งผลต่อร่างกายภายในเวลาไม่กี่วินาทีหลังถูกแก๊ส และอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจคงอยู่ได้นานนับชั่วโมง

อันตรายจากแก๊สน้ำตา

ความรุนแรงของอาการหลังโดนแก๊สน้ำตาจะขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของแก๊สน้ำตา พื้นที่ที่มีการใช้แก๊สน้ำตา หรือสุขภาพส่วนตัวของแต่ละคน โดยทั่วไปแก๊สน้ำตาอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ผลกระทบต่อดวงตา

หากดวงตาสัมผัสกับแก๊สน้ำตามักจะเกิดอาการ เช่น

  • น้ำตาไหล 
  • ลืมตาไม่ขึ้น กล้ามเนื้อรอบเบ้าตากระตุก 
  • หนังตาและเยื่อบุตาบวม  
  • แสบตา คันตา
  • มองเห็นเป็นภาพเบลอ
  • เลือดออกในตา เป็นแผลที่กระจกตา หากโดนแรงอัดจากแก๊สน้ำตาโดยตรง 
  • สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว

ผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ

อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น

  • แสบร้อน คันจมูกและลำคอ น้ำมูกไหล
  • แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ 
  • สำลัก 
  • ถุงลมโป่งพอง หลอดลมตีบในผู้ป่วยโรคหอบหืด
  • ระบบหายใจล้มเหลว

ผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร

อาการที่เกิดขึ้นในระบบอวัยวะนี้ เช่น

  • แสบปาก น้ำลายไหล
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย

ผลกระทบต่อผิวหนัง

หากแก๊สน้ำตาถูกผิวหนังจะส่งผลให้เกิดอาการ เช่น 

  • ระคายเคือง แสบ หรือคันผิวหนัง
  • ผิวหนังบวมแดงหรือพุพอง ผิวหนังไหม้จากสารเคมี
  • ผิวหนังอักเสบจากการแพ้ โดยหลังจากสัมผัสสารไปแล้ว 72 ชั่วโมงอาจมีผื่นคันเกิดขึ้น

ผลกระทบในด้านอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น ปวดศีรษะ ง่วงซึม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หัวใจหยุดเต้นหรือเสียชีวิตในผู้ที่มีปัญหาหัวใจ และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งบุตรหรือทารกเจริญเติบโตผิดปกติ เป็นต้น

ในกรณีที่ถูกแก๊สน้ำตาเป็นเวลานานหรือในปริมาณความเข้มข้นสูงอาจทำให้ตาบอด มีเลือดออกภายในร่างกาย เส้นประสาทถูกทำลาย ต้อกระจก แผลที่กระจกตา ปอดบวมน้ำ โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) หากระบบหายใจล้มเหลวหรือสารเคมีเผาไหม้เนื้อเยื่อลำคอและปอดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกแก๊สน้ำตา

ในปัจจุบันไม่มียาแก้พิษสำหรับแก๊สน้ำตา จึงทำได้เพียงควบคุมอาการหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้

  1. เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกและมีลมพัด
  2. ถอดชุดที่เปื้อนแก๊สน้ำตาออก หากเป็นเสื้อชนิดสวมศีรษะ ไม่มีกระดุม หรือถอดได้ยาก ควรใช้กรรไกรตัดผ้าออกแทนการดึงออกทางศีรษะ เพื่อป้องกันแก๊สน้ำตาเลอะใบหน้า   
  3. เมื่อถูกแก๊สน้ำตาควรทำความสะอาดด้วยวิธีที่ถูกต้อง หากมีละอองแก๊สติดตามผิวหนังให้ล้างออกด้วยสบู่และน้ำสะอาดในปริมาณมากโดยเฉพาะบริเวณข้อพับและใบหู 
  4. ล้างดวงตาด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือขวดประมาณ 10–15 นาที โดยให้เอียงศีรษะแล้วค่อย ๆ ปล่อยน้ำให้ไหลผ่านดวงตา หากสวมคอนแทคเลนส์ให้ถอดออกและไม่นำกลับใช้ซ้ำ หากสวมแว่นตาให้ล้างแว่นด้วยสบู่และน้ำสะอาดก่อนนำกลับมาใช้อีกครั้ง  
  5. ระมัดระวังในการหยิบจับสิ่งของหรือเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนแก๊สน้ำตาในขณะใส่ถุงขยะเพื่อนำไปทิ้ง โดยให้สวมถุงมือยางและล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังกระบวนการทิ้ง

อย่างไรก็ตาม แม้คนส่วนใหญ่ที่ถูกแก๊สน้ำตาจะไม่เกิดผลกระทบในระยะยาว แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหรือนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากร่างกายโดนหรือสูดเอาแก๊สน้ำตาเข้าไปควรรีบปฐมพยาบาลโดยเร็ว จากนั้นรีบส่งต่อให้แพทย์เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างถูกวิธี