อาการแสบร้อนกลางอก สาเหตุและ 10 วิธีรับมือที่ได้ผล

อาการแสบร้อนกลางอกสามารถพบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) ซึ่งในบางคนอาจมีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ทั้งนี้ หากคุณรู้วิธีการดูแลตนเองด้วยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพียงเล็กน้อย ก็อาจช่วยบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ที่มีอาการแสบร้อนกลางอกจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนบริเวณกลางหน้าอกหลังจากการรับประทานอาหาร หรือในขณะนอนหลับตอนกลางคืน โดยอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีหรือเกิดขึ้นนานหลายชั่วโมง และอาการแสบร้อนกลางอกมักจะแย่ลงเมื่องอตัวหรือนอนราบ ร่วมกับมีอาการเรอเปรี้ยว เรอเป็นกรด มีรสขมหรือเค็มในลำคอ หรือในบางครั้งอาจรู้สึกกลืนลำบากเหมือนมีอะไรติดคอด้วย

แสบร้อนกลางอก

สาเหตุของอาการแสบร้อนกลางอก

อาการแสบร้อนกลางอกเกิดจากการที่กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหาร (Lower Esophageal Sphincter: LES) ที่กั้นระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารเกิดหย่อนจนปิดไม่สนิทหรือไม่สามารถปิดได้ ทำให้เกิดการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหาร และเกิดอาการแสบร้อนกลางอกตามมา 

อาการแสบร้อนกลางอกสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งพฤติกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่างอาจกระตุ้นให้เกิดการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหาร และส่งผลให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกตามมาได้ เช่น

  • รับประทานอาหารในปริมาณมาก รับประทานเร็วเกินไป หรือเคี้ยวไม่ละเอียด
  • รับประทานอาหารที่ย่อยยาก หรือรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • นอน ก้มตัว ยกของหนัก หรือออกกำลังกายทันทีหลังจากรับประทานอาหาร
  • รับประทานยาบางชนิดที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงคืออาการแสบร้อนกลางอก
  • ปัจจัยของร่างกาย เช่น มีอายุมาก น้ำหนักตัวมากกว่าปกติ หรือมีภาวะอ้วน
  • มีปัญหาสุขภาพบางอย่างทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร มีการอักเสบของหลอดอาหาร และมีภาวะกรดไหลย้อน

10 วิธีรับมืออาการแสบร้อนกลางอกอย่างเหมาะสม

ผู้ที่มีอาการแสบร้อนกลางอก อาจลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังต่อไปนี้เพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น

1. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่

การรับประทานอาหารปริมาณมากภายในมื้อเดียวจะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหาร ที่ทำหน้าที่กั้นระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารปิดไม่สนิทหรือไม่สามารถปิดได้ ทำให้กรดและอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไป และส่งผลให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกตามมา 

ดังนั้น ควรรับประทานอาหารทีละน้อย ๆ แต่รับประทานบ่อย ๆ โดยอาจเปลี่ยนจากการรับประทานอาหารมื้อหลัก 3 มื้อให้เป็น 5–6 มื้อย่อยแทน รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในเวลาใกล้เข้านอน อาจสามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้

2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางประเภท

อาหารบางชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกได้ โดยเฉพาะอาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันสูง ผลไม้รสเปรี้ยวบางชนิด ผักจำพวกหัวหอมสด มะเขือเทศ กระเทียม หรือสะระแหน่ ช็อกโกแลต รวมถึงเครื่องดื่มอย่างพวกผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย 

จึงควรเน้นรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อช่วยเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร และเน้นดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มจำพวกกาแฟ ชา หรือน้ำอัดลม ทั้งนี้ แต่ละคนอาจมีอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกที่แตกต่างกัน จึงควรสังเกตว่าอาการแสบร้อนกลางอกมักเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารชนิดใด เพื่อเลี่ยงอาหารเหล่านั้นในครั้งถัดไป

3. ไม่ควรออกกำลังกายทันทีหลังรับประทานอาหาร

การออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารทันทีอาจทำให้อาการแสบร้อนกลางอกแย่ลงกว่าเดิม จึงควรออกกำลังกายหลังจากการรับประทานอาหารไปแล้วอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และเลี่ยงการออกกำลังกายที่ใช้แรงมากเกินไป เช่น การวิ่งจ๊อกกิ้ง การกระโดดเชือก หรือการเต้นแอโรบิก เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายที่ใช้แรงมากจะยิ่งกระตุ้นให้กรดและอาหารภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหารได้ง่าย 

ดังนั้น อาจเปลี่ยนเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อกรดในกระเพาะอาหารแทน เช่น การเดินแกว่งแขน หรือการเล่นโยคะก็ได้เช่นกัน

4. ไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร

การนอน รวมถึงการเอนตัวนอนราบทันทีหลังจากการรับประทานอาหาร จะทำให้กรดและอาหารไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกตามมา จึงควรนอนหลังจากการรับประทานอาหารประมาณ 2–3 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายย่อยอาหารจนหมดและมีปริมาณกรดในกระเพาะอาหารลดลงก่อน 

นอกจากนี้ การยกของหนักหรือการก้มตัวก็สามารถเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน จึงไม่ควรทำทันทีหลังจากการรับประทานอาหาร

5. นอนหนุนหมอนที่มีความสูงเล็กน้อย

ท่านอนในลักษณะที่ยกศีรษะให้มีระดับที่สูงขึ้นอาจช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกได้ เพราะการนอนราบจะทำให้คอและท้องอยู่ในระดับเดียวกัน จึงมีโอกาสที่กรดจะไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่าย ดังนั้น จึงควรนอนหนุนหมอนที่สูงขึ้นมาประมาณ 4–6 นิ้ว หรือเลือกใช้หมอนที่ออกแบบให้ด้านที่รองรับศีรษะมีลักษณะสูงเป็นพิเศษ

6. สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดบริเวณช่วงท้อง

การสวมใส่เสื้อผ้าหรือชุดที่รัดบริเวณกลางลำตัวและสะโพก เช่น กางเกงยีนส์ ชุดเดรสเข้ารูป ชุดชั้นในหรือเข็มขัดที่รัดแน่นเกินไป อาจเพิ่มแรงดันในช่องท้องให้มากขึ้นจนดันให้กรดไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารได้ ดังนั้นจึงควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัวและพอดีกับรูปร่างเพื่อช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก

7. ลองเคี้ยวหมากฝรั่ง

การเคี้ยวหมากฝรั่งอาจเป็นวิธีลดอาการแสบร้อนกลางอกที่หลายคนไม่ทราบหรือนึกไม่ถึง แต่การเคี้ยวหมากฝรั่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการผลิตน้ำลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหล่อลื่นหลอดอาหารและล้างกรดให้ลงไปในกระเพาะอาหารตามเดิม จึงอาจช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกให้ดีขึ้นได้

8. เลิกสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่จะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างหย่อนจนไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร และเกิดอาการแสบร้อนกลางอกขึ้น อีกทั้ง การสูบบุหรี่ยังทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบย่อยอาหาร ทำให้น้ำดีไหลย้อนกลับเข้ามาในกระเพาะอาหาร ลดการหลั่งน้ำลาย และส่งผลเสียต่อร่างกายอีกมากมาย

ดังนั้น การเลิกสูบบุหรี่สามารถช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกได้ และยังส่งผลดีต่อสุขภาพอีกหลายประการเลยทีเดียวกับร่างกายของคุณเอง

9. เปลี่ยนยาที่กำลังรับประทาน

การใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืด ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคข้ออักเสบ ยารักษาโรคกระดูกพรุน หรือยาฮอร์โมนทดแทน อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกได้ ดังนั้น หากผู้ที่รับประทานยาต่อไปนี้มีอาการแสบร้อนกลางอกเกิดขึ้น อาจปรึกษาแพทย์เพื่อทำการปรับเปลี่ยนยา หรือวิธีใช้ยาอย่างเหมาะสมเพื่อลดการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์

10. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ผู้ที่มีภาวะอ้วนอาจมีอาการอาการแสบร้อนกลางอกรุนแรงได้ เพราะแรงดันในกระเพาะอาหารจะมีมากขึ้นจนดันให้กรดไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหารได้ง่ายกว่าปกติ รวมไปถึงทำให้สารเคมีหรือฮอร์โมนในร่างกายไวต่อการถูกกระตุ้นจากกรด 

ดังนั้น การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติด้วยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและการควบคุมอาหาร จะสามารถช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกที่เกิดขึ้น และส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวอีกหลายประการด้วย

ทั้งนี้ หากดูแลตัวเองด้วยวิธีการข้างต้นแล้วอาการแสบร้อนกลางอกยังไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องใช้ยารักษาอาการกรดไหลย้อนที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปเพื่อช่วยบรรเทาอาการอีกทางหนึ่ง แต่หากมีอาการแสบร้อนกลางอกเกิดขึ้นบ่อยกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมถึงมีอาการคลื่นไส้อาเจียนต่อเนื่อง เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง มีปัญหาในการกลืน มีปัญหาในการรับประทานอาหารและทำให้น้ำหนักลดลง ควรไปพบแพทย์