ไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease)

ความหมาย ไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease)

ไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) คือภาวะที่ไขมันเข้าไปแทรกที่เซลล์ของตับ ซึ่งหากสะสมมากกว่า 5–10% ของน้ำหนักตับจะถือว่าเป็นภาวะไขมันพอกตับ โดยสาเหตุหลักเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และโรคอื่น ๆ หากตรวจพบภาวะไขมันพอกตับตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม จะเน้นรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น

แต่หากปล่อยให้อาการของโรคดำเนินไปโดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ตับเกิดการอักเสบ เซลล์ตับตาย และเกิดพังผืดภายในตับ จนกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ ตามมา เช่น ตับวาย ตับหยุดการทำงานโดยสิ้นเชิง และมะเร็งตับ

ไขมันพอกตับ

สาเหตุของไขมันพอกตับ

สาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะไขมันพอกตับเกิดจากการที่ร่างกายสะสมไขมันมากเกินไป หรือเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเผาผลาญไขมัน แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol-related Fatty Liver Disease)

ตับทำหน้าที่ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยปรับระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้ปกติ และกรองของเสียออกจากเลือด โดยร่างกายจะสูญเสียเซลล์ตับบางส่วนในการกำจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย หากดื่มในปริมาณที่ไม่มากเกินไป ร่างกายจะสร้างเซลล์ตับขึ้นมาทดแทนได้  

แต่ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและเป็นเวลานาน จะทำให้ตับไม่สามารถสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นทดแทนได้ดีเท่าที่ควร เมื่อตับทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันที่ตับ และเกิดเป็นภาวะไขมันพอกตับตามมา

2. ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Fatty Liver Disease)

ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญ หรือความผิดปกติของเอนไซม์และตัวรับ (Receptor) ที่อยู่ในร่างกาย จนมีไขมันส่วนเกินไปสะสมอยู่ในเซลล์ตับ กลายเป็นภาวะไขมันพอกตับ เช่น

นอกจากนี้ ไขมันพอกตับอาจพบในผู้สูงอายุ ผู้ใช้ยาต่าง ๆ เช่น อะมิโอดาโรน (Amiodarone) ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) กลูโคคอร์ติซอล (Glucocorticoids) เททราไซคลิน (Tetracycline) โอเอสโตรเจน (Oestrogens) เมโธเทรกเซท (Methotrexate) และแทลเลียม (Thallium) รวมถึงผู้ที่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 แต่พบได้น้อย

อาการของไขมันพอกตับ

คนที่เป็นไขมันพอกตับระยะแรกมักไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะทำให้ตับอักเสบ จนทำให้เกิดพังผืดที่ตับ แต่ตับยังทำงานได้ตามปกติ หากไม่ได้รับการรักษา จะนำไปสู่ภาวะตับแข็ง ซึ่งเป็นระยะที่ตับเกิดความเสียหายถาวร และอาจนำไปสู่ภาวะตับวาย และมะเร็งตับตามมา

ผู้ป่วยไขมันพอกตับจะเริ่มมีอาการเมื่อโรคเข้าสู่ระยะรุนแรง โดยอาการที่พบได้คือ

  • เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • รู้สึกไม่สบายท้อง ปวดที่บริเวณท้องด้านบนขวา หรือกลางท้อง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • น้ำหนักลดผิดปกติ ความอยากอาหารลดลง
  • คันผิวหนัง มีรอยปื้นคล้ำที่ผิวหนังบริเวณ คอ หรือใต้รักแร้
  • แขน ขา และท้องบวม
  • ม้ามโต
  • ดีซ่าน (Jaundice) 
  • ปัสสาวะสีเข้ม และอาเจียนเป็นเลือด
  • มึนงง สับสน
  • หายใจลำบาก

อาการไขมันพอกตับที่ควรไปพบแพทย์

คนทั่วไปมักไม่มีอาการใด ๆ หากไขมันพอกตับอยู่ในระยะแรก เพราะหากมีอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกไม่สบายท้อง ปวดท้องด้านบนขวา อ่อนเพลียมาก น้ำหนักลดผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกภาวะไขมันพอกตับที่เข้าสู่ระยะรุนแรง การไปตรวจและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยบรรเทาอาการ และชะลอความรุนแรงของโรคได้

การวินิจฉัยภาวะไขมันพอกตับ

การตรวจร่างกายเป็นวิธีเดียวที่สามารถระบุได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะไขมันพอกตับหรือไม่ โดยในขั้นต้นหากแพทย์พบความผิดปกติที่ตับ เช่น คลำที่ท้องแล้วบริเวณตับมีอาการโตผิดปกติ หรือซักประวัติผู้ป่วยแล้ว ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ความอยากอาหารลดลง เคยมีประวัติดื่มแอลกอฮอล์ มีการใช้ยาหรืออาหารเสริมต่าง ๆ แพทย์ก็จะสั่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ เช่น

การตรวจเลือด 

แม้จะไม่สามารถระบุภาวะไขมันพอกตับได้ชัดเจน แต่การตรวจเลือดจะช่วยให้แพทย์เห็นปริมาณเอนไซม์ของตับที่มากขึ้นผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณและปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของไขมันพอกตับ หรือในบางกรณีก็ทำให้แพทย์เห็นสัญญาณของการอักเสบของตับได้อีกด้วย 

ประเภทการตรวจเลือดที่แพทย์มักใช้ได้แก่

  • การตรวจนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)
  • การตรวจเอนไซม์และการทำงานของตับ
  • การตรวจวัดไขมันในเลือด ทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์
  • การตรวจหาภาวะตับอักเสบจากไวรัสชนิดเรื้อรัง
  • การตรวจค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดwww.pobpad.com/ทำความรู้จัก-hba1c-วิธีตรวจค (Hemoglobin A1C)

การดูภาพทางรังสีวินิจฉัย (Imaging Procedures)

วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติของตับจากภาพถ่าย ซึ่งวิธีที่แพทย์ใช้ในเบื้องต้น คือการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) จากนั้นหากแพทย์ต้องการผลที่ละเอียดมากขึ้น แพทย์อาจให้ตรวจซีที สแกน (CT Scan) และเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพิ่มเติม เพื่อให้เห็นภาพของตับได้ชัดเจนจนสามารถยืนยันผลได้

การเก็บเนื้อเยื่อส่งตรวจ (Biopsy)

การเก็บเนื้อเยื่อส่งตรวจเป็นวิธีที่ยืนยันผลได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะไขมันพอกตับหรือไม่ และสาเหตุเกิดจากกอะไร โดยแพทย์จะทายาชาที่ผิวหนังบริเวณตับ จากนั้นใช้เข็มเจาะเข้าไปเพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ตับ และนำไปตรวจโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์ ผลที่ได้จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการตรวจวินิจฉัยวิธีอื่น ๆ

การรักษาไขมันพอกตับ

การรักษาภาวะไขมันพอกตับมุ่งเน้นไปที่การหันมาดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคไขมันพอกตับได้โดยตรง ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ผู้ป่วยควรเน้นรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมไขมันต่ำ ผักผลไม้ ธัญพืชขัดสีน้อย และถั่วต่าง ๆ ที่ให้โปรตีนและไฟเบอร์สูง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง รวมถึงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก 

นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และลดปริมาณการรับประทานอาหารลงให้เหลือแค่พออิ่ม ก็จะช่วยควบคุมความรุนแรงของอาการได้

งดดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะยิ่งทำให้อาการรุนแรง โดยเฉพาะผู้มีภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ จึงควรลดปริมาณการดื่มลง หรือหากเป็นไปได้ แพทย์อาจแนะนำให้เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต ซึ่งจะส่งผลดีที่สุด นอกจากนี้ การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดได้

ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายเป็นประจำสัปดาห์ละ 150 นาที จะทำให้อาการโดยรวมต่าง ๆ ของภาวะไขมันพอกตับดีขึ้น และช่วยให้ความไวต่ออินซูลินของร่างกาย (Insulin Sensitivity) ดีขึ้น ซึ่งดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ควบคุมน้ำหนัก

การควบคุมน้ำหนักตัวเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดไขมันในร่างกายได้ โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง และทำให้ไขมันที่แทรกตัวอยู่ภายในตับลดลง แต่หากผู้ป่วยมีภาวะอ้วนจนไม่สามารถลดน้ำหนักได้เท่าที่ควร อาจต้องใช้การผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยในการลดน้ำหนักด้วย

การใช้ยา

แพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล และลดการสะสมของไขมันในตับ เช่น ยากลุ่มสแตติน (Statin) ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidinediones) และอาหารเสริมอื่น ๆ เช่น โอเมก้า 3 และวิตามินอี ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ตับทำงานหนัก

ผู้ป่วยควรใช้ยาตามที่ระบุบนฉลากหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนเริ่มรับประทานอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรใด ๆ

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ

แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ และบี ซึ่งมักทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงในผู้ป่วยโรคตับ

ภาวะแทรกซ้อนไขมันพอกตับ

การควบคุมภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ดี จะทำให้ตับอักเสบและเกิดพังผืดในตับตามมา หากไม่ได้รับการรักษาที่ดีและทันท่วงทีจะทำให้พังผืดขยายตัวมากขึ้นและลุกลามจนตับเสื่อมสภาพ กลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยไขมันพอกตับที่มีภาวะติดสุราเรื้อรัง และไวรัสตับอักเสบซี จะเสี่ยงต่อโรคตับแข็งมากกว่าคนปกติ และหากไม่รีบรักษาอาจนำไปสู่อาการอื่น ๆ ได้แก่

  • มีของเหลวจำนวนมากในช่องท้อง หรือที่เรียกว่า อาการท้องมาน
  • เส้นเลือดดำในหลอดอาหารโป่งพอง (Esophageal Varices) จนอาจทำให้เกิดการแตกของเส้นเลือด และมีเลือดออกได้
  • มีอาการมึนงง พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง เนื่องจากโรคสมองจากตับ (Hepatic Encephalopathy) ซึ่งเป็นภาวะที่ตับเสียหาย จนไม่สามารถกำจัดของเสียในร่างกายได้ จึงเกิดการคั่งของของเสีย ส่งผลให้สมองทำงานไม่ปกติ
  • ภาวะตับวายระยะสุดท้าย ส่งผลให้ตับหยุดการทำงานโดยสิ้นเชิง
  • มะเร็งตับ เป็นอาการที่มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็ง

การป้องกันไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับเป็นภาวะสุขภาพที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากมีการดูแลสุขภาพที่ดีพอ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชชนิดต่าง ๆ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เปลี่ยนมารับประทานอาหารที่มีไขมันดี เช่น ถั่วเปลือกแข็ง อะโวคาโด ปลาทะเล เป็นต้น 

อีกทั้งควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยควบคุมน้ำหนัก และกระตุ้นระบบเผาผลาญ หากเป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ก็ควรควบคุมปริมาณการดื่มแต่พอดี โดยผู้ชายควรดื่มไม่เกินวันละ 2 หน่วยบริโภค และผู้หญิงไม่ควรเกินวันละ 1 หน่วยบริโภค 

สำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะคอเลสเตอรอลสูง ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากภาวะไขมันพอกตับได้