การวินิจฉัยไข้เลือดออก ไข้เลือดออก (Dengue Fever)
โรคไข้เลือดออกอาจวินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากอาการคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไวรัสซิกา (Zika Virus) มาลาเรีย ชิคุนกุนยา (Chikungunya) และไข้ไทฟอยด์
แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วยเพื่อทราบแหล่งที่อยู่อาศัยหรือการเดินทางล่าสุดว่าผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคมาหรือไม่ และตรวจดูอาการว่าอยู่ในเกณฑ์ส่วนใหญ่ต่อไปนี้หรือไม่ หรือมีความรุนแรงของอาการในระดับใด เพื่อประกอบการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างเหมาะสม
- มีไข้สูงประมาณ 39‒41 องศาเซลเซียส
- มีเลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน หรือมีจ้ำเลือดใต้ผิวหนัง
- ปวดบริเวณชายโครงขวา กดไปบริเวณดังกล่าวแล้วรู้สึกเจ็บ เพราะตับโต
- เกล็ดเลือดต่ำ
- ความเข้มข้นของเลือดสูง หรือมีน้ำบริเวณช่องปอด
- มีภาวะช็อก
รวมถึงมีการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรค โดยแพทย์มักใช้วิธี CBC (Complete Blood Count) ซึ่งเป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือด และการตรวจเลือดหาภูมิต้านทานโรคต่อเชื้อ (Antibody Test) ซึ่งจะตรวจพบความผิดปกติได้ภายใน 3‒4 วันหลังมีไข้สูง
นอกจากนี้ อาจตรวจหาแร่ในเลือดและของเหลวในร่างกาย ทำให้ทราบปริมาณน้ำในร่างกาย ค่าความเป็นกรดของเลือด และการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย ในบางกรณีอาจต้องเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อดูการทำงานของปอดและของเหลวภายใน ตรวจวิเคราะห์ระดับเอนไซม์ตับ หรือวิธีอื่น ๆ ตามความเหมาะสมที่ช่วยในการวินิจฉัยและรักษาในขณะนั้น
ในบางกรณีอาจต้องเอกซเรย์บริเวณหน้าอก เพื่อตรวจดูการทำงานของปอดและของเหลวภายใน และการตรวจวิเคราะห์ผลในห้องแล็บจากระดับเอนไซม์ตับก็เป็นอีกวิธีในการวินิจฉัยโรค โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและเลือกการตรวจทางห้องแล็บหรืออื่น ๆ ตามความเหมาะสมที่ช่วยในการวินิจฉัยและรักษาในขณะนั้น