ไซนัสอักเสบในเด็ก พ่อแม่ดูแลอย่างไร

ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) เป็นการอักเสบของเยื่อบุโพรงอากาศบริเวณข้างจมูกหรือที่เรียกว่าไซนัส โดยมากมักเกิดขึ้นหลังจากเด็กเป็นหวัด โรคภูมิแพ้ และริดสีดวงจมูก แม้ไซนัสอักเสบในเด็กเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่หากปล่อยไว้เรื้อรังอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

ตามปกติแล้ว ไซนัสจะผลิตเมือก (Mucus) ที่คอยจับฝุ่นละอองในอากาศและเชื้อโรค เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อของโพรงจมูก เมื่อไซนัสอักเสบจะทำให้จมูกบวม โพรงไซนัสอุดตัน มีน้ำมูกข้นเหนียวคั่งค้าง และหากมีเชื้อโรคจากจมูกเข้าสู่โพรงไซนัสอาจทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้

ไซนัสอักเสบในเด็ก พ่อแม่ดูแลอย่างไร

อาการและความรุนแรงของไซนัสอักเสบในเด็ก

ไซนัสอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่บางครั้งอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย การได้รับสารก่อภูมิแพ้ การอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นควัน ต่อมอะดีนอยด์โต และสิ่งแปลกปลอมเข้ารูจมูก เป็นต้น 

ไซนัสอักเสบในเด็กจากการเชื้อไวรัสมักมีอาการดังนี้

  • คัดจมูก น้ำมูกไหลนาน 7–10 วัน น้ำมูกข้นสีเขียวหรือเหลือง
  • เสมหะไหลลงคอ ไอ เจ็บคอ  
  • ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น 
  • ปวดศีรษะ 
  • ปวดตามใบหน้า เช่น แก้ม หน้าผาก 
  • ปวดหู หูอื้อ 
  • ปวดฟัน
  • มีไข้
  • ตาบวม 
  • มีเลือดออกทางจมูก แต่พบได้น้อย 
  • เด็กเล็กอาจร้องไห้งอแง ไม่ยอมกินอาหารหรือนม และหายใจทางปาก 

เด็กบางคนอาจเป็นไซนัสอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้เด็กเป็นหวัดนานกว่า 10 วันโดยอาการไม่ดีขึ้น มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส มีน้ำมูกข้น ปวดบริเวณใบหน้าเกิน 3–4 วัน บางครั้งอาการอาจรุนแรงขึ้นหรือเป็นซ้ำอีกหลังจากที่มีการติดเชื้อไวรัสมาแล้ว 5–6 วัน

ไซนัสอักเสบแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักตามระยะเวลาที่เป็น โดยแต่ละประเภทจะมีสาเหตุและแผนการรักษาที่แตกต่างกัน ได้แก่ ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน เด็กจะมีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์ มักหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา ไซนัสอักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน เด็กจะอาการตั้งแต่ 4–12 สัปดาห์ และไซนัสอักเสบเรื้อรัง เด็กจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ นาน 12 สัปดาห์ขึ้นไป

ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสอาจหายได้เองโดยไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ ในเบื้องต้นผู้ปกครองอาจช่วยบรรเทาอาการไซนัสอักเสบให้เด็กด้วยวิธีเหล่านี้

  • ให้เด็กพักผ่อนมาก ๆ และดื่มน้ำให้เพียงพอ เช่น น้ำเปล่าและน้ำผลไม้ ซึ่งจะช่วยละลายเสมหะที่เหนียวข้น 
  • ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณโพรงไซนัสข้างจมูกของลูก เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดจากไซนัสอักเสบ หากไม่ทราบตำแหน่งของไซนัสอาจสังเกตได้จากตำแหน่งที่เด็กมีอาการปวด 
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ จะช่วยชะล้างน้ำมูกและหนองโพรงจมูก และช่วยให้เด็กหายใจสะดวกขึ้น โดยผู้ปกครองสามารถซื้อน้ำเกลือชนิดสำเร็จรูปได้ตามร้านขายยาทั่วไป
  • สูดไอน้ำร้อนจากชามหรืออ่าง โดยให้เด็กหายใจเข้าออกปกติ หรือสามารถใช้ผ้าสะอาดผืนใหญ่คลุมศีรษะไว้ วิธีนี้จะช่วยลดอาการคัดจมูก ทำให้เด็กหายใจสะดวกขึ้น แต่หากลูกรู้สึกร้อนเกินไปควรพักชั่วคราว และควรระวังไม่ให้น้ำร้อนลวกโดนผิวเด็ก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นและละอองเกสรดอกไม้
  • ใช้เครื่องทำความชื้น (Humidifier) หากในห้องนอนของเด็กมีอากาศที่แห้ง เพราะความชื้นจะช่วยลดอาการคอแห้ง เจ็บคอ และคัดจมูก 
  • ใช้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาพาราเซตามอลเพื่อช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวด และยาละลายเสมหะสำหรับเด็ก โดยให้ปรึกษาเภสัชกรถึงปริมาณและระยะเวลาในการให้เด็กกินยา

เด็กที่มีอาการไซนัสอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรีย ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยาให้เด็กกินเอง ซึ่งแพทย์อาจให้กินยาปฏิชีวนะนาน 10–14 วัน 

เด็กที่มีอาการไซนัสอักเสบเรื้อรังหรือเกิดซ้ำอาจต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจภูมิคุ้มกันและตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ เนื่องจากมักไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสเพียงอย่างเดียว หากพบว่าเด็กเป็นโรคภูมิแพ้ แพทย์อาจให้กินยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เพื่อช่วยควบคุมอาการ

อย่างไรก็ตาม ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์หากลูกมีอาการไซนัสอักเสบที่คาดว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เป็นไข้หวัดนานกว่า 10 วันโดยอาการไม่ดีขึ้น อาการแย่ลงอีกทั้งที่อาการดีขึ้นแล้ว มีอาการรุนแรงอื่น อย่างมีน้ำมูกข้น ปวดใบหน้าติดต่อกันเกิน 3–4 วัน มีไข้สูง มีอาการของภาวะแทรกซ้อนอื่น อย่างตาบวมแดง เจ็บตา ปวดศีรษะและต้นคออย่างรุนแรง อาเจียน มีอาการไวต่อแสง