ไนโตรเจนเหลว รับประทานได้ไหม อันตรายหรือไม่ ?

ไนโตรเจนเหลวถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารต่าง ๆ เช่น ขนมหวาน ไอศกรีม หรือค็อกเทล เพื่อสร้างก๊าซลักษณะคล้ายควันลอยออกมาสร้างความแปลกใหม่ให้เมนูอาหาร แต่ในขณะเดียวกันไนโตรเจนเหลวอาจทำให้เกิดอันตรายต่าง ๆ ต่อสุขภาพผู้บริโภคได้ เช่น ทำลายเนื้อเยื่อในร่างกาย และทำให้หมดสติ ดังนั้น จึงควรศึกษาข้อมูลความปลอดภัย ระมัดระวังในการบริโภค และคำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ

ไนโตรเจนเหลว

ไนโตรเจนเหลว คือ อะไร ?

ไนโตรเจนเหลว คือ ก๊าซไนโตรเจนในสถานะของเหลวที่มีอุณหภูมิประมาณ -200 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อยที่ไม่ติดไฟ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติใด ๆ ละลายน้ำได้เล็กน้อย และมีน้ำหนักเบากว่าอากาศ

ในอุตสาหกรรมอาหาร ไนโตรเจนเหลวถูกนำมาใช้ประโยชน์สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องการความเย็นจัด เช่น ใช้แช่เย็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ให้อยู่ในอุณหภูมิที่เย็นจัด หรือใช้แช่แข็งอาหารโดยการทำให้อุณหภูมิของอาหารลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

อาหารที่มีส่วมผสมของไนโตรเจนเหลวเป็นอันตรายหรือไม่ ?

ในปัจจุบัน ผู้ประกอบอาหารบางรายดัดแปลงการใช้ไนโตรเจนเหลวมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร เพื่อทำให้อาหารแข็งตัวในทันที เช่น ราดไนโตรเจนเหลวลงบนไอศกรีม ผสมในไอศกรีม หรือราดลงบนขนมให้ขนมชนิดนั้นแข็งตัว จากนั้นไนโตรเจนเหลวจะเปลี่ยนจากของเหลวกลับสู่สถานะก๊าซ จนมีลักษณะคล้ายไอเย็นหรือควันลอยออกมาจากอาหารดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขไทยเผยว่า การบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของไนโตรเจนเหลวอาจไม่อันตรายต่อสุขภาพร่างกายหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และต้องใช้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องวัตถุเจือปนอาหาร แต่หากใช้เกินปริมาณที่กำหนด หรือใช้โดยไม่ระมัดระวัง ไนโตรเจนเหลวก็อาจก่ออันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน

โดยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ไนโตรเจนเหลวประกอบอาหาร มีดังนี้

อันตรายจากความเย็นจัด เนื่องจากไนโตรเจนเหลวเป็นของเหลวที่มีความเย็นจัด หากสัมผัสโดนโดยตรง ผิวหนังและเนื้อเยื่อต่าง ๆ อาจถูกทำลายจนเกิดอาการพองบวมขึ้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายแผลไหม้หรือแผลน้ำร้อนลวก โดยอาการต่าง ๆ อาจยังไม่ปรากฏในช่วงแรกที่สัมผัสโดนไนโตรเจนเหลว แต่หากผ่านไปสักพักจะเริ่มมีอาการปวดและแสบร้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อไนโตรเจนเหลวโดนเนื้อเยื่ออ่อน เช่น นัยน์ตา อาการที่ปรากฏอาจรุนแรงมาก และหากรับประทานอาหารโดยไม่รอให้ไนโตรเจนเหลวระเหยเป็นก๊าซจนหมดก่อน อาจทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อในปากเกิดแผลไหม้จากความเย็นจัด และอาจทำให้กระเพาะอาหารเป็นรูได้

อันตรายจากก๊าซไนโตรเจน อาจเกิดภาวะความไม่สมดุลของสัดส่วนก๊าซในอากาศ ทำให้ปริมาณออกซิเจนในอากาศที่ใช้หายใจลดลง และเมื่อสูดดมหรือหายใจเอาก๊าซไนโตรเจนเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรือหมดสติจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยเฉพาะในเด็ก คนชรา และผู้ป่วยที่มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ

ข้อควรระวังในการบริโภคอาหารที่มีไนโตรเจนเหลว

แม้การใช้ไนโตรเจนเหลวประกอบอาหารจะได้รับการควบคุมจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด แต่ผู้บริโภคควรคำนึงถึงอันตรายต่าง ๆ อยู่เสมอ โดยระมัดระวังไม่ให้ไนโตรเจนเหลวถูกผิวหนังหรือเนื้อเยื่ออ่อนจนเกิดอาการไหม้ และควรรอให้ก๊าซของไนโตรเจนเหลวที่เป็นไอเย็นหรือควันระเหยออกไปให้หมดก่อนบริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากก๊าซดังกล่าว

ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจในคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร พบเห็นการใช้ไนโตรเจนเหลวในอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเกิดอันตรายจากการบริโภค ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ร้องเรียนได้ที่เบอร์ 1556 เพื่อให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตรวจสอบปราบปรามและดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป