ความหมาย ไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B)
ไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (HBV) ซึ่งอาจนำไปสู่โรคร้ายที่เป็นอันตรายต่อตับและชีวิตได้ เช่น ตับวาย ตับแข็ง หรือมะเร็งตับ โดยสามารถติดต่อทางเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด หรือของเหลวอื่น ๆ ในร่างกายผ่านการใช้เข็มฉีดยา ฝังเข็ม ใช้อุปกรณ์ที่ปนเปื้อนร่วมกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี ทั่วโลกประมาณ 350–400 ล้านคน ส่วนในประเทศไทยก็มีการแพร่ระบาดของไวรัสตับอักเสบ บี สูงประมาณร้อยละ 6–10 ของประชากรทั้งหมด คิดเป็นจำนวนประชากร 6–7 ล้านคน โดยการรับเชื้อส่วนใหญ่จะมาจากมารดาผู้เป็นพาหะนำโรคไปสู่ทารกในตอนคลอด
อาการไวรัสตับอักเสบ บี
อาการของไวรัสตับอักเสบ บี มักเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 1–3 เดือนแรกหลังจากที่ได้รับเชื้อ และผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 90–95 สามารถหายเป็นปกติจากการที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้น ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำในอนาคต ส่วนรายที่ไม่สามารถหายเองได้ประมาณร้อยละ 5–10 มักจะไม่มีอาการแสดงออกมา ซึ่งผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแสดงสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
อาการที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ในช่วง 1–3 เดือนแรก จะเรียกว่าระยะเฉียบพลัน โดยในระยะนี้จะยังไม่ค่อยพบว่ามีอาการที่รุนแรงหรือน่ากังวลมากนัก แต่หากการติดเชื้อดำเนินต่อไปเป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไป จะเรียกว่าระยะเรื้อรัง โดยระยะเรื้อรังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอย่างตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งอาการก็จะแตกต่างกันออกไป
ทั้งนี้ ทั้งระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรังสามารถพบอาการได้ตั้งแต่เป็นน้อยจนเป็นรุนแรง โดยจะขึ้นอยู่กับระดับการอักเสบของตับในผู้ป่วยแต่ละคน
สาเหตุของไวรัสตับอักเสบ บี
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี มีสาเหตุมาจากไวรัสตับอักเสบบี (HBV) ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้จะติดต่อผ่านคนสู่คน โดยติดเชื้อผ่านสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น เลือด น้ำอสุจิ หรือของเหลวอื่น ๆ ในร่างกาย หากผู้ที่ได้รับเชื้อมาไม่มีภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบ บี ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ บี
การวินิจฉัยในเบื้องต้นสามารถทำเองได้โดยการสังเกตอาการที่เกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งหากผู้ป่วยพบว่าตัวเองมีโอกาส มีความเสี่ยง หรือพบว่ามีอาการของไวรัสตับอักเสบ บี ให้ไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดและอาจนำเอาตัวอย่างชิ้นเนื้อตับไปตรวจ
การรักษาไวรัสตับอักเสบ บี
การรักษาไวรัสตับอักเสบ บี แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง เมื่อมีการวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบ บี ระยะเฉียบพลัน ซึ่งสามารถหายได้เอง แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัว เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโภชนาการสูง และดื่มน้ำในปริมาณมาก ๆ เพราะร่างกายกำลังต่อสู้ในการกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่
หากได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ บี ระยะเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคตับที่รุนแรง และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยการรักษาที่แพทย์แนะนำนั้นขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัส ยาอินเตอร์เฟอรอน หรือการผ่าตัดเปลี่ยนตับ
ภาวะแทรกซ้อนของไวรัสตับอักเสบ บี
ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของไวรัสตับอีกเสบ บี จะเกิดในระยะเรื้อรัง โดยอาจทำให้เกิดโรคที่ร้ายแรงขึ้นได้ เช่น โรคตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ ซึ่งโรคเหล่านี้เกิดจากการที่เซลล์ตับค่อย ๆ ถูกทำลายลงไป หรือตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จนอาจต้องทำการเปลี่ยนตับหรือปลูกถ่ายตับใหม่
การป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี
การป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยควรฉีดตั้งแต่แรกเกิด แต่เด็กโตและผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนก็สามารถฉีดวัคซีนได้เช่นกัน
นอกจากนั้น เรายังสามารถป้องกันและระมัดระวังไวรัสตับอักเสบ บีได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่กังวลหรือเครียดจนเกินไป สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรือหากต้องการเจาะหูหรือสักลายควรเลือกร้านที่น่าเชื่อถือถูกหลักอนามัย