การรักษาหูดหงอนไก่ หูดหงอนไก่ (Genital Warts)
หูดหงอนไก่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ ซึ่งเมื่อแพทย์วินิจฉัยชัดเจนแล้วว่าติ่งเนื้อลักษณะผิดปกติที่ขึ้นตามอวัยวะเพศหรือทวารหนักคือหูดหงอนไก่ แพทย์จะวางแผนการรักษาหูดหงอนไก่โดยขึ้นอยู่กับปริมาณหูดหงอนไก่ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ในขณะที่ทำการรักษาผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองเพื่อช่วยลดอาการระคายเคืองบริเวณแผล และทำให้รู้สึกสบายตัวมากขึ้น ดังนี้
- แช่น้ำอุ่นอย่างน้อยวันละ 10–15 นาที เพื่อช่วยให้รู้สึกสบายแผลมากขึ้น
- ล้างบริเวณที่มีหูดหงอนไก่ด้วยน้ำอุ่นเบา ๆ เพื่อรักษาความสะอาด แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้มือถูเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคืองตามมา
- พยายามให้บริเวณที่มีหูดหงอนไก่แห้งอยู่เสมอ เพื่อลดอาการระคายเคืองและลดการอับชื้น โดยทุกครั้งหลังทำความสะอาดควรใช้ไดร์เป่าผมเป่าบริเวณแผลอย่างห่าง ๆ จนแห้ง
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดหรือถูบริเวณหูดหงอนไก่ เพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสีและติดเชื้อได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะยาเหล่านี้ไม่สามารถรักษาหูดหงอนไก่ได้ และอาจทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้นด้วย
การรักษาด้วยยา
การรักษาด้วยยาเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ ซึ่งเป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ และมักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงเท่านั้น เพราะจะใช้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างชัดเจน ตัวอย่างยาที่มักใช้รักษาหูดหงอนไก่มีดังนี้
- ยาโพโดฟีโลทอกซิน (Podophylotoxin: PPT) ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ภายในหูด แต่เป็นยาที่มีผลข้างเคียงหลายประการ เช่น ทำให้ผิวหนังระคายเคือง เป็นแผล และรู้สึกปวด
- ยาไตรคลอโรเซติกแอซิด (Trichloroacetic Acid: TCA) ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้โปรตีนภายในหูดเสื่อมสภาพ ส่งผลให้เซลล์ตาย และทำให้หูดที่มีก้านค่อย ๆ หลุดออกไปภายใน 2–3 วัน แต่ในขณะที่หูดหลุดออกอาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองหรือมีเลือดออก
- ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ และช่วยให้อาการของหูดหงอนไก่ลดลง แต่มีผลข้างเคียงคืออาจทำให้เกิดผื่นขึ้นตามตัวได้เป็นบางแห่ง
วิธีการใช้ยาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคือ ก่อนทายาควรปัสสาวะให้เรียบร้อย ทำความสะอาดบริเวณที่มีหูดหงอนไก่และเป่าให้แห้งก่อนแล้วจึงค่อยทายา เพราะหลังจากทายาแล้วไม่ควรให้บริเวณที่ทายาโดนน้ำอย่างน้อย 4–6 ชั่วโมง
การรักษาด้วยการทำหัตถการ
ในกรณีที่หูดมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะรักษาด้วยยา หรือการใช้ยาไม่ได้ผล รวมถึงในกรณีที่ผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยหัตการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้หูดหงอนไก่ส่งผลต่อทารกเมื่อคลอดได้ โดยหัตถการที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่
- การจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นการผ่าตัดโดยใช้ความเย็นจากไนโตรเจนเหลวกำจัดหูดออกไป วิธีนี้จะทำให้ผิวหนังบริเวณหูดกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งจำเป็นต้องกลับมาทำซ้ำเพื่อกำจัดหูดให้หมด การรักษาด้วยวิธีนี้อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บบริเวณที่ถูกจี้และมีอาการบวมได้
- การจี้ด้วยไฟฟ้า (Electrocautery) วิธีนี้มีขั้นตอนคล้ายกับการจี้ด้วยความเย็น แต่จะใช้กระแสไฟฟ้าในการกำจัดหูดแทน โดยหลังจากการรักษาผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณแผล และอาจมีอาการบวมร่วมด้วย ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น
- การผ่าตัดเพื่อตัดติ่งเนื้อ (Surgical Excision) เป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้ยาชาหรือยาสลบ โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์พิเศษในการผ่าตัด เมื่อเสร็จสิ้นการรักษาแล้วอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นจนกว่าจะหายปวด
- การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser Treatments) เป็นการรักษาที่ใช้แสงเลเซอร์ในการกำจัดหูด โดยมีราคาค่อนข้างสูง ทำได้ยาก และมีผลข้างเคียงในการรักษาคืออาจก่อให้เกิดแผลเป็นและทำให้รู้สึกเจ็บที่บริเวณแผลได้ด้วย