การรักษา หูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่บรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ เนื่องจากหูดหงอนไก่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นเชื้อที่ไม่สามารถกำจัดออกจากร่างกายได้ ดังนั้นเมื่อแพทย์วินิจฉัยชัดเจนแล้วว่าติ่งเนื้อลักษณะผิดปกติที่ขึ้นตามอวัยวะเพศหรือทวารหนักคือหูดหงอนไก่ แพทย์จะวางแผนการรักษาหูดหงอนไก่โดยขึ้นอยู่กับปริมาณหูดหงอนไก่ ทั้งนี้ในขณะที่ทำการรักษา ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองเพื่อให้รู้สึกสบายบริเวณแผลด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- แช่น้ำอุ่น การนั่งแช่น้ำอุ่นในอ่างอย่างน้อยวันละ 10-15 นาที จะช่วยให้รู้สึกสบายมากขึ้น
- ล้างบริเวณที่มีหูดหงอนไก่ด้วยน้ำอุ่นเบา ๆ จะช่วยให้รู้สึกสบายและสะอาดมากขึ้น หลีกเลี่ยงการใช้มือถูบริเวณที่มีหูดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคือง
- พยายามให้บริเวณที่มีหูดหงอนไก่แห้งอยู่เสมอ ทุกครั้งหลังทำความสะอาดควรใช้ไดร์เป่าผมเป่าให้แห้ง จะช่วยลดอาการระคายเคืองและลดการอับชื้น โดยในการเป่าแห้งควรให้ไดร์อยู่ห่างจากแผล ห้ามใช้ผ้าเช็ดโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการเสียดสีและติดเชื้อได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาอื่น ๆ ยาทาที่ขายตามร้านขายยาทั่วไปไม่สามารถรักษาหูดหงอนไก่ได้ และยังอาจทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้นอีกด้วย
การใช้ยา
การใช้ยา เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการได้ ซึ่งเป็นยาชาที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ และมักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เพราะการรักษาจะมีประสิทธิภาพอย่างชัดเจน แต่หากหูดหงอนไก่ที่ขึ้นไม่สร้างความรำคาญหรือไม่ทำให้รู้สึกระคายเคือง ก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษาในทันที
ยาที่มักใช้มีดังนี้
- ยาโพโดฟีโลทอกซิน (Podophylotoxin: PPT) ยาทาชนิดนี้ที่ออกฤทธิ์ไปยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ภายในหูด เป็นยาที่มีผลข้างเคียงมาก เช่น ทำให้ผิวหนังระคายเคือง เป็นแผล และปวด หากตัวยาซึมเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้เส้นประสาทอักเสบ เกิดอาการชาตามตัว เม็ดเลือดขาวลดต่ำลง และเกล็ดเลือดต่ำ
- ยาไตรคลอโรเซติกแอซิด (Trichloroacetic Acid: TCA) เป็นยาทาที่ออกฤทธิ์โดยตรงกับหูดที่ขึ้น โดยจะเข้าไปทำให้โปรตีนภายในหูดหงอนไก่เสื่อมสภาพ ทำให้เซลล์ตาย หลังจากนั้นหูดที่มีก้านจะค่อย ๆ หลุดออกภายใน 2-3 วัน ขณะที่หูดหลุดออกอาจทำให้เกิดผิวหนังระคายเคืองหรือมีเลือดออก
- ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) เป็นยาที่แพทย์มักจะสั่งให้ใช้ทาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ติดต่อกันไม่เกิน 16 สัปดาห์ โดยยาชนิดนี้จะเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ซึ่งจะช่วยให้อาการหูดหงอนไก่ลดลง แต่มีผลข้างเคียงคืออาจทำให้เกิดผื่นขึ้นตามตัวได้เป็นบางแห่ง
ทั้งนี้วิธีการใช้ยาที่ดีที่สุดก็คือก่อนทายาควรปัสสาวะให้เรียบร้อยและทำความสะอาดบริเวณที่มีหูดหงอนไก่ขึ้น รวมทั้งทำให้แห้งก่อนแล้วจึงทายา เพราะหลังจากทาแล้วไม่ควรให้บริเวณที่ทายาโดนน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง
การผ่าตัด
ในกรณีที่หูดมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะรักษาด้วยยาทา หรือการใช้ยาไม่ได้ผล และในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นหญิงตั้งครรภ์ แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อไม่ให้หูดหงอนไก่ส่งผลต่อเด็กในขณะคลอดได้ การผ่าตัดจะเป็นผ่าตัดเล็ก โดยวิธีผ่าตัดที่นิยมใช้ในปัจจุบันได้แก่
- การจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นการผ่าตัดโดยใช้ความเย็นจากไนโตรเจนเหลวกำจัดหูดออกไป วิธีนี้จะทำให้ผิวหนังบริเวณหูดกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งจำเป็นต้องกลับมาทำซ้ำเพื่อกำจัดหูดให้หมด การรักษาด้วยวิธีนี้อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บบริเวณที่ถูกจี้เย็นและมีอาการบวมได้
- การจี้ด้วยไฟฟ้า (Electrocautery) วิธีนี้มีขั้นตอนคล้ายกับการจี้ด้วยความเย็น แต่จะใช้กระแสไฟฟ้าในการกำจัดหูด โดยหลังจากการรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณแผล และอาจมีอาการบวมร่วมด้วย ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น
- การผ่าตัดเพื่อตัดติ่งเนื้อ (Surgical Excision) เป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้ยาชาหรือยาสลบ โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์พิเศษในการรักษา เมื่อเสร็จสิ้นการรักษาแล้วอาจต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะหายเจ็บปวด
- การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser Treatments) เป็นการรักษาที่ใช้แสงเลเซอร์ในการกำจัดหูดหงอนไก่ โดยมีราคาค่อนข้างสูง ทำได้ยาก และผลข้างเคียงในการรักษายังอาจก่อให้เกิดแผลเป็นและทำให้รู้สึกเจ็บที่บริเวณแผลได้อีกด้วย