การวินิจฉัยหูดหงอนไก่ หูดหงอนไก่ (Genital Warts)
การวินิจฉัยหูดหงอนไก่สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
การวินิจฉัยด้วยตัวเอง
บางครั้งโรคหูดหงอนไก่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีขนาดเล็กมากหรือเกิดขึ้นภายในร่างกาย แต่หากพบว่ามีหูดลักษณะผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีและรับการวินิจฉัยอย่างแน่ชัด เพราะภาวะสุขภาพบางประการอาจมีลักษณะคล้ายกับหูดหงอนไก่แต่ไม่เป็นอันตราย เช่น การเกิดตุ่มไขมันบริเวณอวัยวะเพศ (Fordyce spots)
อย่างไรก็ตาม คู่นอนของผู้ที่มีอาการของหูดหงอนไก่เกิดขึ้นก็ควรไปตรวจด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะคู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
การวินิจฉัยโดยแพทย์
ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจบริเวณที่สงสัยว่าอาจเป็นหูดหงอนไก่ เช่น บริเวณช่องคลอด ทวารหนัก ขาหนีบ หรือต้นขา จากนั้นจะใช้กรดอะซิติกเจือจางเพื่อทำให้หูดมีสีซีดลงและเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วจึงนำกล้องหรือแว่นขยายมาส่องเพื่อดูลักษณะของหูดที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ อาจมีการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยวิธีการตรวจที่นิยมใช้มีดังนี้
- การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear)
สำหรับการตรวจแปปสเมียร์ แพทย์จะนำเอาตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกหรือที่ทวารหนักไปตรวจ โดยใช้คีมปากเป็ดเพื่อช่วยในการขยายช่องคลอดให้กว้าง จากนั้นใช้สำลีก้านขนาดใหญ่ป้ายบริเวณปากมดลูกหรือทวารหนักเพื่อเก็บตัวอย่างเซลล์ และส่งตัวอย่างเซลล์ไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์
- การตรวจเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV Test)
การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีในผู้หญิงนอกจากจะเป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่แล้ว แพทย์อาจใช้ตรวจเพื่อหาความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกด้วย โดยแพทย์จะนำเอาตัวอย่างเซลล์บริเวณมดลูกไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อระบุสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเอชพีวีที่จะบอกได้ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงหรือไม่