การป้องกันหูดหงอนไก่ หูดหงอนไก่ (Genital Warts)
การป้องกันหูดหงอนไก่สามารถทำได้โดยการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยมีวิธีการดังนี้
การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
วิธีการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยที่ง่ายที่สุดคือการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะสามารถช่วยลดได้ทั้งความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่การสวมถุงยางอนามัยก็อาจไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสผิวหนังที่มีการติดเชื้อได้ด้วย
รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ของเล่นทางเพศร่วมกับผู้อื่น หรือสวมถุงยางอนามัยกับของเล่นในกรณีที่ใช้ของเล่นวมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันไม่ให้ของเล่นทางเพศกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสเอชพีวี นอกจากนี้ วิธีการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่งคือการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี
การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี
การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้นอกเหนือจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ซึ่งการได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวียังสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิงได้ด้วย ในปัจจุบันวัคซีนที่นิยมใช้แบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่
- วัคซีนการ์ดาซิล (Gardasil) เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ได้ถึง 90% และป้องกันไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70%
- วัคซีนเซอร์วาริก (Cervarix) เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้
การฉีดวัคซีนสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9–26 ปี และต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยการฉีดวัคซีนจะมีประสิทธิภาพดีที่สุดหากในขณะที่ได้รับวัคซีนยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แต่หากเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน อาจยังไม่มีผลแน่ชัดว่าจะสามารถช่วยป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น วิงเวียนศีรษะ มีไข้ต่ำ หรือเป็นลมหลังจากฉีดวัคซีน
อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้เสมอไป ดังนั้น แม้จะเคยฉีดวัคซีนจนครบแล้วก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก หรือการตรวจแปปสเมียร์ทุก 3–5 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการของโรคมะเร็งหรือโรคหูดหงอนไก่