การรักษาธาลัสซีเมีย ธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
การรักษาธาลัสซีเมียขึ้นอยู่กับประเภทและระดับความรุนแรงของโรค โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อผู้ป่วยมากที่สุด การรักษาโรคธาลัสซีเมียประกอบด้วยการถ่ายเลือด การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ การกำจัดธาตุเหล็กเกินขนาด และการรักษาอาการอื่น ๆ ดังนี้
การถ่ายเลือด (Blood Transfusions)
การถ่ายเลือดเป็นวิธีรักษาโรคธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรงเพื่อช่วยรักษาภาวะโลหิตจาง โดยความถี่ในการถ่ายเลือดจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของประเภทธาลัสซีเมียที่เป็น สำหรับผู้ป่วยโรคเบต้าธาลัสซีเมียเมเจอร์ซึ่งเป็นประเภทที่มีความรุนแรงมากที่สุดจำเป็นต้องได้รับการถ่ายเลือดเดือนละครั้ง ทั้งนี้ การถ่ายเลือดอาจทำให้เกิดภาวะธาตุเหล็กในเลือดมากเกินไป จึงต้องรักษาภาวะธาตุเหล็กในเลือดมากร่วมด้วย
การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (Stem Cell Transparent)
การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เรียกอีกอย่างว่าการปลูกถ่ายไขกระดูก โดยผู้ป่วยจะได้รับสเต็มเซลล์จากผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและมีสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ เมื่อร่างกายได้รับเซลล์ใหม่ก็จะเริ่มผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงเข้าไปแทนที่ อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย (Graft Versus Host Disease) ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
การกำจัดธาตุเหล็กเกินขนาด (Removing Excess Iron)
ผู้ป่วยที่ได้รับการถ่ายเลือดอย่างสม่ำเสมออาจเกิดภาวะธาตุเหล็กในร่างกายมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อหัวใจ ตับ และอวัยวะอื่น ๆ จึงจำเป็นต้องได้รับการกำจัดธาตุเหล็กที่มากเกินไปเรียกว่าการทำคีเลชั่น (Chelation Therapy) การทำคีเลชั่นจะทำเมื่อผู้ป่วยได้รับการถ่ายเลือดไปประมาณ 10 ครั้ง ซึ่งการทำคีเลชั่นจะประกอบไปด้วยสารคีเลชั่น (Chelating Agents) 3 อย่าง ได้แก่
- ดีเฟอร์ร็อกซามีน (Desferrioxamine: DFO) แพทย์จะให้สารนี้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังช้า ๆ ผ่านเครื่องช่วยปั๊มยา ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 8–10 ชั่วโมง และสัปดาห์ละ 5–6 ครั้ง
- ดีเฟอร์ริโปรน (Deferipron: DFP) แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานเป็นยาเม็ดหรือยาน้ำวันละ 3 ครั้ง บางครั้งอาจให้ร่วมกับสารดีเฟอร์ร็อกซามีนเพื่อลดจำนวนการฉีดสารดังกล่าว
- ดีเฟอร์ราซีร็อก (Deferasirox: DFX) แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานเป็นยาเม็ดแบบละลายในน้ำดื่ม
การรักษาอาการอื่น ๆ
โรคธาลัสซีเมียอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาควบคู่ไปด้วย ดังนี้
- การให้วัคซีนและยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันและรักษาอาการติดเชื้อ
- การรักษาด้วยฮอร์โมน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้ากว่าปกติ หรือในกรณีของผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)
- การใช้ยาบิสฟอตโฟเนต (Bisphosphonates) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
- การผ่าตัดอวัยวะ ในกรณีของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดนำม้ามหรือถุงน้ำดีออกจากร่างกาย
- การเสริมกรดโฟลิค โดยการรับประทานอาหารที่มีกรดโฟลิคสูง เช่น มะเขือเทศ ตำลึง กะหล่ำปลี ผักคะน้า ถั่วงอก เพื่อช่วยในการเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง