ผัดวันประกันพรุ่ง (Procrastination) เป็นคำที่ใช้เรียกการที่ไม่ยอมลงมือทำงานหรือหน้าที่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วจนกว่าจะใกล้ถึงเวลากำหนดส่งงาน การเลื่อนเวลาทำบางสิ่งออกไปอาจเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่หากผัดวันประกันพรุ่งจนเป็นนิสัย อาจส่งผลเสียต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตได้
ผู้ที่มีนิสัยผัดวันประกันพรุ่งมักตั้งใจหลีกเลี่ยงการทำงาน โดยพยายามหาข้ออ้างที่ทำให้ตัวเองไม่ได้ทำงานนั้นให้เสร็จสิ้น นิสัยนี้พบบ่อยในวัยเรียนและวัยทำงาน โดยพบว่าคนวัยทำงานกว่า 1 ใน 5 ประสบปัญหาในการทำงานจากนิสัยผัดวันประกันพรุ่งและส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว บทความนี้ได้รวบรวมสาเหตุ ผลกระทบ และเทคนิคแก้นิสัยผัดวันประกันพรุ่งมาให้ได้นำไปปรับใช้กัน
ผัดวันประกันพรุ่งเกิดจากอะไร
หลายคนอาจสงสัยว่านิสัยผัดวันประกันพรุ่งเกิดจากอะไร นักจิตวิทยาศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้คนมีนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง โดยเชื่อว่าอาจเกิดจากความคิดและลักษณะนิสัยส่วนตัวของแต่ละคน เช่น ความมั่นใจในตัวเองต่ำ ความวิตกกังวล และความไม่อยากทำงานที่ยาก ซึ่งนิสัยผัดวันประกันพรุ่งมักพบในกลุ่มคนที่มีลักษณะนิสัยต่าง ๆ ดังนี้
- เชื่อว่าการทำงานให้สำเร็จจะต้องอยู่ในช่วงที่อารมณ์ดีก่อน คนกลุ่มนี้มักใช้ข้ออ้างว่าตอนนี้สภาวะอารมณ์ไม่ปกติ จึงยังไม่พร้อมเริ่มทำงานและหันไปทำกิจกรรมอื่นที่ชอบแทน เช่น การเล่นเกมและการดูภาพยนตร์ ซึ่งพบว่าโซเชียลมีเดียอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนใช้เวลากับการท่องอินเตอร์เน็ตแทนการทำงาน และอาจนำไปสู่นิสัยผัดวันประกันพรุ่งได้มากขึ้น
- กลัวความล้มเหลวจากการทำงาน ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ ทำให้ไม่กล้าลงมือทำงาน หรืออาจเป็นผู้ที่รักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ซึ่งตั้งมาตรฐานในการทำสิ่งต่าง ๆ ไว้สูง จึงคิดว่าไม่มีทางที่จะทำงานได้ดีตามที่หวังไว้ และอาจทำให้เกิดนิสัยผัดวันประกันพรุ่งได้
- เชื่อว่าตัวเองจะมีแรงกระตุ้นให้ทำงานได้ดีในสภาวะกดดัน คนกลุ่มนี้มักเลื่อนเวลาออกไปเรื่อย ๆ และรอให้ใกล้ถึงกำหนดส่งงานจึงค่อยเริ่มทำงาน
- ไม่สามารถจัดการงานที่ได้รับมอบหมายได้ โดยอาจเกิดจากการขาดทักษะแก้ปัญหา รวมทั้งความยากและจำนวนงานที่มากเกินความสามารถ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่รู้ว่าควรเริ่มทำงานอย่างไรและไม่สามารถวางแผนการทำงานได้ จึงเกิดความสับสนและมักเริ่มทำงานที่ทำง่ายที่สุดก่อน แม้จะมีงานอื่นที่มีกำหนดส่งก่อนก็ตาม
- มีภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ซึ่งเป็นภาวะของการรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ และหมดแรงจูงใจในการทำงาน ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ คนกลุ่มนี้มักเลื่อนเวลาการทำงานออกไปเพราะรู้สึกหมดพลังและขาดแรงกระตุ้นในการทำงาน
ผัดวันประกันพรุ่งและผลกระทบต่อสุขภาพ
การผัดวันประกันพรุ่งอาจช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและกดดันจากภาระหน้าที่ไปได้ในช่วงแรก แต่ในที่สุดแล้วเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องทำได้ การเร่งทำในช่วงใกล้ถึงกำหนดส่งอาจยิ่งทำให้เพิ่มความเครียดและวิตกกังวล ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมทั้งอาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย
ผู้ที่ผัดวันประกันพรุ่งจนเป็นนิสัยอาจมีปัญหาทางสุขภาพ เช่น นอนไม่หลับ ระบบการย่อยและการขับถ่ายแปรปรวน และระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจากความเครียด นอกจากนี้ การไม่สามารถแบ่งเวลาอย่างเหมาะสม อาจทำให้กินอาหารไม่เป็นเวลา และไม่มีเวลาพักผ่อนและดูแลสุขภาพ จึงอาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ตามมา อย่างความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจและหลอดเลือด
เทคนิคเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง
การปรับความคิดและพฤติกรรมของตัวเองอาจช่วยให้รับมือกับนิสัยผัดวันประกันพรุ่งได้ โดยอาจใช้วิธีต่อไปนี้
- ให้เวลาตัวเองเมื่อได้รับมอบหมายงานมา เป็นธรรมดาที่เราอาจรู้สึกสับสนและไม่รู้จะเริ่มจัดการภาระงานอย่างไร การให้เวลาตัวเองในการวางแผนการทำงานจะช่วยให้จัดการงานที่มีอยู่ในมือได้อย่างเป็นระบบ
- จัดตารางการทำงานในแต่ละวัน โดยไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกไม่กดดันจนเกินไป และคำนึงถึงลำดับความสำคัญของงานเป็นหลัก ซึ่งอาจเริ่มทำงานที่มีกำหนดส่งเร็วที่สุดก่อน แล้วจึงตามด้วยงานอื่นที่มีกำหนดส่งช้ากว่าเป็นลำดับถัดไป
- ตั้งใจทำงานตามแผนที่วางไว้ และไม่หาข้ออ้างในการเลื่อนเวลาออกไป
- ไม่ทำกิจกรรมอื่นที่อาจทำให้เสียเวลาในการทำงาน อย่างการนอนเล่นและเล่นโทรศัพท์มือถือในเวลางาน
- หากงานที่ต้องทำมีความยากและซับซ้อน อาจแบ่งงานเป็นส่วน ๆ และทำวันละขั้นตอน เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดในการทำงานมากเกินไป
- ปรับความคิดของตัวเอง ความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดาและไม่มีใครประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง หากเกิดข้อผิดพลาดไม่ควรโทษตัวเองเกินไป และนำไปปรับปรุงในการทำงานชิ้นต่อไป
- ปรึกษาเพื่อนและอาจารย์ หรือพูดคุยกับหัวหน้างานเพื่อหาวิธีการทำงานที่เหมาะสม เช่น ปรับลดปริมาณงานหรือมอบหมายให้คนอื่นมาช่วยทำงานแทน เป็นต้น
- ให้รางวัลตัวเองเมื่อทำงานสำเร็จ เพื่อให้มีกำลังใจในการทำงานชิ้นต่อไป
การเลื่อนเวลาการทำงานออกไปเมื่อมีเหตุจำเป็นนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่หากจงใจเลี่ยงการทำงานบ่อยครั้งจนเป็นนิสัยอาจทำให้เกิดปัญหาในการเรียน การทำงาน และส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ จึงควรเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่งด้วยการปรับความคิดและเริ่มลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ จะทำให้สามารถสะสางงานแต่ละวันได้อย่างเหมาะสมและไม่ทำลายสุขภาพในระยะยาว