ความหมาย หูดหงอนไก่ (Genital Warts)
หูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata, Genital Warts) คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสฮิวแมน แปปิโลมาไวรัส หรือ เอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) โดยอาการที่พบได้บ่อยคือเกิดติ่งเนื้อที่มีลักษณะขรุขระเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก แม้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บและไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตได้เช่นกัน
หูดหงอนไก่สามารถเกิดได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย รวมถึงการใช้ของเล่นทางเพศร่วมกับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม หูดหงอนไก่มีวิธีป้องกันในเบื้องต้น คือการสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง และการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีอย่างครบถ้วน
อาการของหูดหงอนไก่
อาการของหูดหงอนไก่ที่สามารถเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือเกิดติ่งเนื้อที่มีลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหรือที่ทวารหนัก ขนาดของหูดหงอนไก่อาจเล็กจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า หรืออาจใหญ่จนทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ แม้ว่าหูดหงอนไก่ส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือระคายเคือง แต่ในบางกรณีก็อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดจนทำให้ต้องทำการรักษาเพื่อบรรเทาอาการได้เช่นกัน
สาเหตุของหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเชื้อฮิวแมน แปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus: HPV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือกิจกรรมทางเพศอื่น ๆ โดยสามารถติดต่อได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง และอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้นหากเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หรือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสเชื้อฮิวแมน แปปิโลมาไวรัสนี้ไม่สามารถติดต่อสู่กันได้ผ่านการจูบ การกอด หรือการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน
การวินิจฉัยหูดหงอนไก่
การวินิจฉัยหูดหงอนไก่จะเน้นไปที่การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี เพราะหากพบว่ามีการติดเชื้อเอชพีวีเกิดขึ้นก็สามารถระบุได้ทันทีว่าหูดที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนักคือหูดหงอนไก่
โดยการวินิจฉัยในเบื้องต้น แพทย์จะใช้กรดอะซิติกเพื่อทำให้หูดมีสีซีดลงแล้วตรวจด้วยแว่นขยายหรือกล้องเพื่อให้เห็นสามารถมองเห็นได้ชัดเจน จากนั้นแพทย์อาจมีการเก็บตัวอย่างเซลล์ที่บริเวณปากมดลูกหรือทวารหนักไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพิ่มเติม เพื่อตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อเอชพีวี และความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิงด้วย
การรักษาหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาหูดหงอนไก่จะเกิดขึ้นเมื่อหูดสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย ซึ่งในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ด้วยการรักษาความสะอาดและพยายามให้บริเวณแผลแห้งอยู่เสมอ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่บริเวณหูดด้วยมือหรือเช็ดด้วยผ้าเพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือระคายเคืองเพิ่มขึ้น และควรหลีกเลี่ยงการซื้อยามาใช้เอง
ในการรักษาทางการแพทย์ หากขนาดของหูดไม่ใหญ่มากนักแพทย์จะสั่งยาชนิดทาให้ผู้ป่วยใช้ทาเพื่อบรรเทาอาการและช่วยให้หูดหงอนไก่หลุดออกไป แต่การใช้ยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง และอาจทำให้รู้สึกเจ็บที่แผลได้ ดังนั้นจึงควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่ครัดเท่านั้น
นอกจากนี้ การรักษาด้วยหัตถการบางอย่างยังเป็นการรักษาที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น การจี้ด้วยความเย็น การจี้ด้วยไฟฟ้า การผ่าตัดหูด หรือการรักษาด้วยเลเซอร์ แต่การรักษาด้วยหัตถการเหล่านี้จะไม่สามารถทำให้หูดหงอนไก่หายขาดได้ และอาจต้องทำการรักษาซ้ำจนกว่าจะได้ผลน่าพึงพอใจ
ภาวะแทรกซ้อนหูดหงอนไก่
หากอาการหูดหงอนไก่ที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม หรือผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ก็อาจทำให้หูดหงอนไก่กลับมาเป็นซ้ำได้ อีกทั้งผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเพศหญิง เพราะธรรมชาติของการติดเชื้อไวรัสมักจะติดเชื้อพร้อมกันหลายสายพันธุ์ ทำให้อาจได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ที่ป่วยด้วยโรคหูดหงอนไก่ หูดอาจมีขนาดใหญ่จนทำให้ผนังมดลูกขยายตัวได้ไม่เต็มที่ หรืออาจทำให้เกิดเลือดออกขณะคลอด รวมถึงอาจส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีหูดหงอนไก่เกิดขึ้นบริเวณคอจนไปขัดขวางทางเดินหายใจ และทำให้ทารกต้องเข้ารับการผ่าตัดโดยด่วนเพื่อรักษาอาการ
การป้องกันหูดหงอนไก่
วิธีการป้องกันหูดหงอนไก่ที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ด้วยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่มีชื่อว่าการ์ดาซิล (Gardasil) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ทั้งโรคหูดหงอนไก่และโรคมะเร็งปากมดลูกด้วย
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหูดหงอนไก่ของผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อตามมาได้ รวมถึงควรล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสกับหูด