Extrovert รู้จักบุคลิกภาพชอบเข้าสังคม

Extrovert เป็นคำเรียกบุคลิกภาพของคนที่ชอบเข้าสังคม ชอบพูดคุยกับคนอื่น ชอบทำกิจกรรมที่ได้แสดงความคิดเห็นท่ามกลางผู้คน ความร่าเริงและความมั่นใจในตัวเองสูง หากได้อยู่ในสถานที่ที่มีคนอื่นอยู่ด้วยจะรู้สึกสนุกสนาน สดชื่น มีพลัง ในทางกลับกันหากต้องอยู่คนเดียวอาจรู้สึกเหงาและเบื่อหน่าย

Extrovert เป็นบุคลิกภาพรูปแบบหนึ่งจาก 5 องค์ประกอบตามแนวคิดของคาร์ล จุง (Carl Jung) นักจิตวิทยาที่เสนอทฤษฎีว่ามนุษย์แต่ละคนมีบุคลิกภาพต่างกัน บุคลิกภาพที่ตรงข้ามกับ Extrovert คือ Introvert ซึ่งคนที่ค่อนข้างเงียบ เก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม ปัจจัยที่มีผลต่อบุคลิกภาพ ได้แก่ พันธุกรรม ฮอร์โมนในร่างกาย และสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา ทำให้แต่ละคนมีบุคลิกภาพที่ต่างกัน

Extrovert

ลักษณะนิสัยของ Extrovert

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Extrovert อาจมีลักษณะนิสัยต่าง ๆ ดังนี้

  • รู้สึกสบายใจเมื่อได้อยู่ในสถานที่ที่มีผู้คน ชอบทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม ชอบพบปะสังสรรค์ 
  • อัธยาศัยดี ร่าเริง ผูกมิตรและเข้ากับคนอื่นได้ง่าย
  • ชอบพูดคุยแสดงความคิดเห็น และชอบเป็นจุดสนใจในกลุ่มคน
  • ไม่ชอบอยู่คนเดียวหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยลำพัง
  • ได้รับแรงบันดาลใจและแนวความคิดใหม่ ๆ จากคนรอบข้าง
  • กระตือรือร้น มองโลกในแง่ดี ปรับตัวเก่ง
  • มีความมั่นใจ ชอบความท้าทาย ไม่กลัวความเสี่ยง ชอบลองทำสิ่งใหม่ ๆ
  • หุนหันพลันแล่น มักลงมือทำโดยไม่ยั้งคิด

อย่างไรก็ดี คนที่เป็น Extrovert จึงไม่จำเป็นต้องชอบไปงานสังสรรค์หรือกล้าพูดทุกคน โดยคนแบบ Extrovert อาจรู้สึกสนุกกับบรรยากาศรอบตัว แต่ก็อาจรู้สึกประหม่าเวลาต้องแสดงความคิดเห็นในกลุ่มหรืออยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้าได้ จึงมีการจำแนกบุคลิกภาพของคนเราออกเป็นรูปแบบย่อย ๆ เพื่อระบุลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น MBTI ที่แบ่งบุคลิกภาพคนออกเป็น 16 แบบ

การวัดบุคลิกภาพแบบ Extrovert

การเข้าใจบุคลิกภาพของตัวเองอาจช่วยให้ทราบจุดเด่นและจุดด้อยของตัวเอง และเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตัวเองทั้งด้านการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ และอาชีพการงาน หากต้องการทราบว่าตัวเองมีบุคลิกภาพแบบ Extrovert หรือไม่ อาจค้นหาตัวเองได้จากแบบทดสอบบุคลิกภาพออนไลน์ หรืออีกวิธีที่ให้ผลชัดเจนกว่าคือการสำรวจตัวเอง

ลองสังเกตว่าตัวเองรู้สึกสบายใจและมีความสุขเมื่ออยู่ในสถานการณ์แบบใด ชอบพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นหรือไม่ รู้สึกมีพลังเมื่ออยู่กับคนอื่นมากกว่าอยู่คนเดียวใช่หรือไม่ หากไม่แน่ใจอาจลองถามคนใกล้ชิดให้ช่วยสังเกตและบอกว่าเราเป็นคนแบบไหน 

ทั้งนี้ บุคลิกภาพไม่มีผิดหรือถูก บางคนอาจรู้สึกว่าบุคลิกภาพของตัวเองเป็นแบบผสม ไม่ชัดเจนไปทางใดทางหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะมีบุคลิกภาพที่หลากหลาย อีกทั้งบุคลิกภาพสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา บางคนอาจมีนิสัยเก็บตัวแบบ Introvert แต่เมื่อโตขึ้นอาจชอบเข้าสังคมแบบ Extrovert ก็ได้

ข้อดีและข้อเสียของการเป็น Extrovert

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Extrovert เป็นคนที่ชอบใช้พบปะพูดคุยและทำกิจกรรมกับคนอื่น เป็นคนร่าเริงสนุกสนาน มีเพื่อนเยอะ และมั่นใจในตัวเอง งานวิจัยบางส่วนพบว่าผู้ที่มีบุคลิกแบบ Extrovert มักรู้สึกมีความสุขและความพึงพอใจในชีวิตของตัวเองมากกว่า และอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลน้อยกว่าผู้ที่มีบุคลิกแบบ Introvert

ในขณะเดียวกัน คนแบบ Extrovert ชอบเข้าสังคม กล้าได้กล้าเสีย ชอบความตื่นเต้นท้าทาย งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าบุกลิกภาพแบบ Extrovert อาจมีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าคนที่เป็น Introvert และมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เช่น โควิด-19 ได้ง่ายจากการชอบทำกิจกรรมกับคนอื่น

กุญแจความสุขในชีวิตในแบบของ Extroverts

แนวทางการใช้ชีวิตแบบ Extrovert ให้มีความสุขและประสบความสำเร็จ มีดังนี้

  • นัดพบปะเพื่อนหรือใช้เวลาทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อไม่ให้รู้สึกเบื่อหรือเหงา แต่ควรจัดตารางเวลาให้เหมาะสม และปฏิเสธนัดหากรู้สึกว่าการเข้าสังคมทำให้ไม่มีเวลาให้ตัวเอง เพื่อไม่ให้รู้สึกเหนื่อยจนเกินไป
  • ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น นั่งสมาธิ ฝึกหายใจ และเขียนบันทึก ซึ่งจะช่วยให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และยังได้สำรวจความคิดและความรู้สึกของตัวเองในแต่ละวันอีกด้วย
  • ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของตัวเอง เพื่อนำไปต่อยอดในการทำงาน โดย Extrovert มีจุดแข็งคือความเป็นมิตร เข้ากับคนอื่นได้ง่าย จึงมีแนวโน้มประสบความสำเร็จในงานที่ใช้การเจรจาต่อรองหรือทักษะความเป็นผู้นำ

Extrovert เป็นบุคลิกภาพแบบหนึ่งที่ชอบเข้าสังคม มีพลังบวก และชอบพูดคุยกับคนอื่น ไม่ว่าจะมีบุคลิกภาพแบบใด ทุกคนล้วนมีเอกลักษณ์และคุณค่าในตัวเอง หากรู้จักปรับสมดุลในการใช้ชีวิต ปรับปรุงจุดด้อยและพัฒนาจุดแข็งของตัวเอง จะช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขยิ่งขึ้น หากรู้สึกเครียดหรือมีปัญหาในการใช้ชีวิตและความสัมพันธ์ อาจลองปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ