กินแล้วนอน คือพฤติกรรมการกินอาการแล้วเอนตัวลงนอนทันที ซึ่งอาจส่งผลต่อร่างกายได้หลายอย่าง โดยอาจทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน นอนไม่หลับ และน้ำหนักขึ้น ซึ่งเป็นโทษต่อร่างกายได้ จึงเป็นพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันและลดปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
การกินแล้วนอนจะส่งผลต่อสุขภาพได้ขึ้นอยู่กับปริมาณและประเภทของอาหารที่กิน โดยหากกินอาหารหนักในปริมาณมากก็อาจรบกวนการทำงานของกระเพาะอาหาร และทำให้รู้สึกไม่ดีได้ รวมถึงหากกินเป็นประจำก็อาจทำให้น้ำหนักขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจำเป็นต้องกินอาหารมื้อดึก เช่น ผู้ที่ทำงานในเวลากลางคืน ซึ่งการรู้โทษและวิธีกินมื้อดึกให้ถูกต้องอาจช่วยให้ดูแลสุขภาพได้มากขึ้น
โทษของการกินแล้วนอน
การกินอาหารมื้อดึกหนัก ๆ ในปริมาณมากแล้วนอนเลยอาจส่งผลต่อสุขภาพได้หลายอย่าง ดังนี้
กรดไหลย้อน
การกินแล้วนอนเลยอาจทำให้กรดไหลย้อนจากกระเพาะมายังหลอดอาหารได้ และส่งผลให้อาหารไม่ย่อย จนมีอาการเสียดท้อง แสบร้อนกลางหน้าอก รวมไปถึงอาการคลื่นไส้ เหมือนมีอะไรจุกอยู่ที่ช่วงอก หรือรู้สึกขมในปากซึ่งมาจากกรดในกระเพาะอาหาร
น้ำหนักขึ้น
การกินแล้วนอนตอนกลางคืนไม่ได้ส่งผลให้น้ำหนักขึ้นโดยตรง แต่การกินที่เกินจำนวนแคลอรี่ที่ควรได้รับในแต่ละวันสามารถทำให้น้ำหนักขึ้นได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้ติดเป็นนิสัย เนื่องจากเมื่อกินมื้อดึกแล้วก็จะไม่หิวในตอนเช้า กินอาหารแต่ละมื้อน้อยลง และกลับมาหิวมากในตอนเย็นหรือหิวตอนกลางคืนจนกินเยอะและทำเป็นประจำแทน ซึ่งก็อาจนำไปสู่การกินเกินแม้จะไม่หิว (Overeating) และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นได้
นอนหลับยาก
การวิจัยพบว่าการกินอาหารที่มีแคลอรี่มากอาจทำให้หลับได้ยากขึ้น เนื่องจากร่างกายต้องทำงานต่อด้วยการปล่อยอินซูลิน (Insulin) เพื่อแปลงอาหารเป็นพลังงาน ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าที่ควรเป็นเมื่อเข้าสู่ช่วงพักผ่อน รวมถึงยังทำให้สมองต้องตื่นมาทำงานต่อ การกินแล้วนอนจึงส่งผลให้นาฬิกาชีวิต (Circadian Rhythm) เปลี่ยนและทำให้นอนหลับยากขึ้น
นอกจากนี้ การกินแล้วนอนเลยยังทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนซึ่งรบกวนการนอนด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การวิจัยยังพบว่าการกินและดื่มโดยเว้นช่วงน้อยกว่า 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอนส่งผลให้ตื่นกลางดึกด้วย
วิธีหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพจากการกินแล้วนอน
การกินแล้วนอนหรือเอนตัวนอนทันทีเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงและไม่ควรทำ แต่สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องกินอาหารใกล้เวลานอน เช่น ผู้ที่ทำงานกะกลางคืน หรือผู้ที่หิวในช่วงเวลาก่อนนอนจนส่งผลให้นอนไม่หลับ ก็สามารถเลือกกินอาหารและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพได้ ดังนี้
- ไม่เอนตัวนอนทันทีที่กินเสร็จ และรอ 2–3 ชั่วโมง หรืออย่างน้อย 30 นาทีก่อน เพื่อป้องกันกรดไหลย้อน โดยอาจออกไปเดินเล่นสั้น ๆ เพื่อช่วยให้อาหารย่อยเร็วขึ้นได้เช่นกัน
- กินอาหารทานเล่นย่อยง่ายมีโปรตีนไขมันต่ำอย่างไก่ ปลา หรืออาหารย่อยง่ายมีแคลอรี่และคาร์โบไฮเดรตต่ำ เช่น ไข่ สตรอว์เบอร์รี่ กีวี่ เห็ด นม ถั่ว และผัก ซึ่งอาหารบางประเภทยังมีสารทริปโตเฟน (Triptophen) เซโรโทนิน (Serotonin) และเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ช่วยให้หลับง่ายด้วย
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่เผ็ด มีไขมันสูง และมีกรดสูง เนื่องจากอาจทำให้อาหารไม่ย่อยและเกิดกรดไหลย้อนได้ รวมถึงหลีกเลี่ยงการกินช็อกโกแลต กาแฟ แอลกอฮอลล์ โซดา และเครื่องดื่มชูกำลังเพราะอาจทำให้หลับยากได้
- ไม่กินอาหารหนัก หรือกินเกินจำนวนแคลอรี่ที่ควรได้รับในแต่ละวัน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหนักขึ้น โดยสำหรับผู้ชายไม่ควรกินเกิน 1,800–2,200 ส่วนผู้หญิงไม่ควรกินเกิน 1,500–2,000 แคลอรี่
ถึงแม้ว่าการกินแล้วนอนให้ถูกวิธีอาจช่วยให้ผู้ที่จำเป็นต้องกินมื้อดึกดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น แต่ก็ควรระวังไม่ให้ทำเป็นประจำหรือกินมากเกินจำเป็นเพราะอาจส่งผลต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ ยังควรกินอาหารให้ครบมื้อและเพียงพอในแต่ละวันเพื่อช่วยดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วย