ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ที่ควรรู้จัก และแนวทางการฝึกฝน

ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) คือความสามารถในการเข้าใจและรับรู้ความคิด ความรู้สึก และความต้องการของผู้อื่น โดยไม่ยึดตัวเองเป็นศุนย์กลาง ความเห็นอกเห็นใจเป็นพื้นฐานของความเอื้อเฟื้อและความเมตตาต่อคนรอบข้าง ซึ่งจะช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดี Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจของแต่ละคนอาจมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การเลี้ยงดู ประสบการณ์และการใช้ชีวิต สภาวะจิตใจ รวมไปถึงวามผิดปกติเกี่ยวกับบุคลิกภาพและพัฒนาการ ทั้งนี้ ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ และควรนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

Empathy

ความสำคัญของความเห็นอกเห็นใจ

การมี Empathy ซึ่งหมายถึงความเห็นอกเห็นใจหรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความสำคัญหลายด้าน เช่น

สร้างความสัมพันธ์อันดี

การมี Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจจะช่วยให้เราเข้าใจมุมมองและความรู้สึกของผู้อื่นมากขึ้น จึงช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง ช่วยคลี่คลายปัญหาได้ด้วยดี และไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เพื่อน คนที่ทำงาน คนในชุมชนหรือสังคม

ช่วยให้เข้าใจอารมณ์ตัวเอง และป้องกันภาวะหมดไฟ

การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในช่วยเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ของตนเอง แม้ในช่วงเวลาที่มีความเครียดสูง อีกทั้งช่วยให้เกิดการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงช่วยป้องกันภาวะหมดไฟ (Burnout) ได้

ช่วยในการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ผู้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมักจะมีความตระหนักรู้ในตัวเองสูง และระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้อื่น เช่น ไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ อย่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด หรือตัดสินใจว่าจะไม่รบกวนคนรักหากเขากำลังมีปัญหาที่ต้องจัดการ

กระตุ้นการช่วยเหลือผู้อื่น

เมื่อเรามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เรามักจะอยากหยิบยื่นความช่วยเหลือเมื่อเห็นคนที่ลำบาก คนที่มีความเห็นอกเห็นใจจึงจะจะช่วยเหลือคนรอบตัวบ่อย ๆ เช่น ช่วยเพื่อนที่กำลังมีปัญหาเรื่องงาน หรือช่วยบริจาคเงินและของใช้ให้ผู้ประสบภัย เป็นต้น

ลดการแบ่งแยกและความขัดแย้งในสังคม

การมี Empathy จะช่วยป้องกันการเกิดอคติและการแบ่งแยกของคนในสังคม เช่น การบูลลี่ (Bully) ทั้งต่อหน้าและในโลกออนไลน์ รวมถึงการเหยียดทางเชื้อชาติและสีผิว

ประเภทของความเห็นอกเห็นใจ

ความเห็นอกเห็นใจ หรือ Empathy แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก คือ

1. ความเห็นอกเห็นใจในเชิงความคิด (Cognitive Empathy)

ความเห็นอกเห็นใจเกิดขึ้นเมื่อเรามองจากมุมที่อีกฝ่ายมองเห็น และมองออกว่าผู้อื่นกำลังรู้สึกอย่างไรและจะตัดสินใจอย่างไรต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ โดยอาจใช้หลักการมากกว่าอารมณ์ และไม่จำเป็นต้องเข้าไปสัมผัสหรืออยู่ในสถานการณ์นั้นด้วยตัวเอง

เช่น เมื่อเพื่อนผิดหวังในความรัก หรือตกงานกะทันหัน เราสามารถคาดเดาและมองออกว่าเพื่อนจะรู้สึกเสียใจ เศร้า และโมโห ซึ่งอาจไม่จำเป็นว่าเราจะต้องรู้สึกเช่นเดียวกันกับเพื่อน

2. ความเห็นอกเห็นใจในเชิงความรู้สึก (Affective/ Emotional Empathy)

ความเห็นอกเห็นใจประเภทนี้หมายถึงการที่เรามีความรู้สึกหรืออารมณ์ร่วมกับคนอื่น เช่น ยิ้มหรือหัวเราะตามเมื่อเห็นญาติพี่น้องมีความสุข หรือเสียใจเมื่อรู้ว่าเพื่อนสูญเสียคนที่รักไป บางคนที่มีความเห็นอกเห็นใจประเภทนี้อาจมีอาการทางร่างกายด้วย เช่น เจ็บหน้าอกหรือปวดท้องเมื่อรู้สึกเศร้าเสียใจกับเพื่อนมาก

3. ความเห็นอกเห็นใจในเชิงความปรารถนาดี (Compassionate Empathy/ Empathetic Concern)

ความเห็นอกเห็นใจประเภทนี้เป็นการรวมกันของ Empathy 2 ประเภทข้างต้น โดยเมื่อเห็นอกเห็นใจผู้อื่นโดยเมื่อรับรู้และมองออกว่าผู้อื่นกำลังรู้สึกอย่างไร และเกิดความรู้สึกเหล่านั้นร่วมด้วย จะนำไปสู่การช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น บริจาคเงินช่วยคนที่ลำบากจากน้ำท่วม หรือจอดรถลงไปช่วยคนที่หกล้มอยู่

เทคนิคฝึกความเห็นอกเห็นใจด้วยตัวเอง

ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนให้มีมากขึ้นได้ โดยอาจทำตามวิธีดังต่อไปนี้

  • ฝึกสังเกตคนรอบข้างว่าเขาทำอะไรอยู่ ลองเดาว่าเขามีความคิดหรือความรู้สึกอย่างไร และลองเปรียบเทียบว่าหากเป็นตัวเราเองจะรู้สึกอย่างไร และหากเขาประสบปัญหา เราจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร
  • แสดงความสนใจผู้คนรอบตัวให้มากขึ้น โดยอาจชวนคุยเรื่องที่รู้สึกสนใจ ซึ่งจะช่วยให้เรารับรู้เรื่องราวของคนอื่นเพิ่มขึ้น และนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจในเรื่องราวเหล่านั้น
  • ตั้งใจฟังเรื่องราวของผู้อื่น สบตาและพยักหน้าตามให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราใส่ใจเรื่องราวของเขา ไม่ทำอย่างอื่นไปด้วยขณะที่ฟัง ไม่พูดแทรกหรือใช้ความคิดของตัวเองในการตัดสินคนอื่น
  • หมั่นสังเกตท่าทางของคนอื่น บางครั้งคนรอบข้างที่เผชิญปัญหาอยู่อาจไม่ได้บอกเล่าออกมาเป็นคำพูด การสังเกตสีหน้า สายตา หรือท่าทางของผู้อื่น ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยฝึกให้เรามี Empathy มากขึ้น
  • ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างผู้คน และใจดีกับผู้อื่นให้มากขึ้น ไม่ใช้อคติหรือความคิดเห็นส่วนตัวไปตัดสินหรือเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นในชีวิตจริงหรือในโซเชียลมีเดีย
  • เชื่อใจผู้อื่นและแสดงความรู้สึกของตัวเองออกไปบ้าง โดยบอกเล่าความไม่สบายใจและปรึกษาปัญหากับคนรอบข้างที่เราไว้ใจ การได้รับความเห็นอกเห็นใจและความช่วยเหลือจากคนอื่นจะช่วยให้เราอยากแสดงความเห็นอกเห็นใจกลับไปเช่นกัน
  • เข้าร่วมกิจกรรมที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น เช่น บริจาคเงินหรือสิ่งของให้องค์กรการกุศล เลี้ยงอาหารกลางวันเด็กกำพร้า

การมี Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ตัวเราและคนรอบข้างมีความสุข สร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่น และสร้างความสงบสุขในสังคม หากรู้สึกว่าการฝึกฝนด้วยตัวเองทำได้ยาก หรือรู้สึกเครียดจนเกินไปในการมี Empathy ต่อคนอื่น ควรปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำต่อไป