ความหมาย ฝี (Abscess)
ฝี (Abscess) คือ ตุ่มหนองใต้ผิวหนังที่มีการอักเสบสะสม โดยในหนองจะประกอบไปด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว เนื้อเยื่อที่ตายแล้ว และเชื้อโรค ซึ่งผู้ที่มีฝีบริเวณผิวหนังจะมักพบอาการเจ็บหรือปวดเมื่อสัมผัสโดนฝี ตุ่มฝีอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ร่วมกับอาการตุ่มฝีส่งกลิ่นเหม็น
นอกจากบริเวณผิวหนังแล้ว ฝียังสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ทั้งอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายใน ไม่ว่าจะเป็นที่ก้น บริเวณเนื้อใต้ฟัน ต่อมทอนซิล ตับ ลำไส้ตรง ไขสันหลัง หรือสมอง ซึ่งอาการและความรุนแรงก็มักจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดฝี
อาการของฝี
อาการของฝีจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่เกิด โดยตัวอย่างของตำแหน่งในการเกิดฝี มีดังต่อไปนี้
- ฝีที่ผิวหนัง เป็นฝีที่ก่อตัวขึ้นบริเวณใต้ผิวหนัง โดยบริเวณรากผมหรือขนที่เกิดการติดเชื้อจะพัฒนาจนเกิดฝี
- โพรงหนองที่ฟัน เกิดบริเวณเนื้อใต้ฟัน หรือบริเวณเหงือกและกระดูกกรามใต้ฟัน
- หนองที่ทอนซิล เกิดบริเวณต่อมทอนซิลในช่องปาก และผนังด้านในลำคอ
- ฝีต่อมบาร์โธลิน เกิดในต่อมบาร์โธลินบริเวณผิวหนังที่แคมอวัยวะเพศหญิง
- ฝีที่ก้น เกิดบริเวณผิวหนังที่รอยแยกหรือร่องก้น
- ฝีบริเวณทวารหนัก เกิดบริเวณลำไส้ตรงและทวารหนัก
- ฝีไขสันหลัง เกิดบริเวณโดยรอบไขสันหลัง
- ฝีในสมอง เกิดภายในเนื้อสมองใต้กะโหลกศีรษะ เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
โดยกรณีที่ฝีเกิดบริเวณผิวหนัง ผู้ที่มีฝีจะพบตุ่มบวมแดงใต้ผิวหนัง ซึ่งอาจมีจุดหนองสีขาวหรือเหลืองตรงกลาง และส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดบริเวณเมื่อถูกสัมผัส ในบางคนอาจมีอาการหนาวสั่นและไข้ขึ้นร่วมด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่เกิดฝีบนผิวหนังไม่ควรบีบหรือแกะฝีด้วยตนเอง เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียในหนองที่แตกออกมาอาจแพร่กระจายไปยังผิวหนังบริเวณใกล้เคียงได้
ส่วนกรณีที่ฝีเกิดบริเวณอวัยวะภายใน ผู้ป่วยอาจจะสังเกตอาการได้ยาก อีกทั้งอาการก็อาจจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดฝี แต่อาการทั่วไปที่อาจพบก็เช่น รู้สึกไม่สบายตัวบริเวณที่เกิดฝี ไม่สบายตัว มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หรือมีเหงื่อออกมาก
สาเหตุของฝี
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ตุ่มฝีเกิดที่ผิวหนัง สาเหตุมักเริ่มมาจากการติดเชื้อภายในรูขุมขน ต่อมน้ำมัน หรือต่อมเหงื่อใต้ผิวหนัง จากนั้นเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายก็จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวเพื่อกำจัดเชื้อ โดยกลไกนี้ก็จะส่งผลให้บริเวณดังกล่าวเกิดการอักเสบและเกิดตุ่มฝีตามมา
ส่วนสาเหตุของการเกิดฝีภายในร่างกาย ฝีประเภทนี้มักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พัฒนาขึ้นหลังจากการเจ็บป่วยด้วยโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายชนิดอื่น เช่น ผู้ป่วยมีภาวะไส้ติ่งอักเสบและแตกภายในช่องท้อง จากนั้นเชื้อแบคทีเรียก็กระจายเข้าสู่เนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องท้องจนเกิดเป็นฝีในเวลาต่อมา
การวินิจฉัยฝี
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะซักถามอาการ ประวัติทางการแพทย์ และตรวจร่างกายในบริเวณที่เกิดฝี หรือใช้วิธีการตรวจเฉพาะจุดในบริเวณที่เกิดฝี และส่งตรวจตัวอย่างของเหลวจากฝี รวมถึงแพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยการอัลตราซาวด์ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สำหรับฝีที่อวัยวะภายใน
การรักษาฝี
การรักษาฝีในเบื้องต้น หากฝีมีขนาดเล็กและไม่เจ็บปวดรุนแรง อาการมักจะดีขึ้นและฝีจะหายไปเอง โดยผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่บ้านด้วยการหลีกเลี่ยงการบีบกดหรือใช้เข็มเจาะฝีด้วยตนเอง เพราะอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงและอาจสร้างความเสียหายแก่เส้นเลือดบริเวณดังกล่าวได้
แต่หากฝีมีขนาดใหญ่หรือมีอาการป่วยที่รุนแรง ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ และอาจใช้การผ่าตัดเพื่อถ่ายหนองในฝีออก ทั้งนี้ การรักษาฝีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของฝี ชนิดและบริเวณที่เกิดฝี และดุลยพินิจของแพทย์
ภาวะแทรกซ้อนของฝี
ภาวะแทรกซ้อนของฝีที่ผิวหนังและฝีที่อวัยวะภายในโดยรวมคือการติดเชื้อในเนื้อเยื่อและการติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากเชื้อที่อยู่ในหนองภายในฝีลามเข้าสู่กระแสเลือดหรือเนื้อเยื่อต่าง ๆ หรือฝีอาจแตกและส่งผลให้เชื้อลามไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ ได้
การป้องกันการเกิดฝี
การป้องกันการเกิดฝีที่ผิวหนัง สามารถทำได้ด้วยการรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ รวมทั้งรักษาความสะอาดและดูแลสุขอนามัยในด้านต่าง ๆ ด้วย
ส่วนในกรณีของฝีที่อวัยวะภายในซึ่งสามารถเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายได้หลายชนิด การป้องกันฝีชนิดนี้จึงอาจทำได้ยาก