การวินิจฉัยฝี ฝี (Abscess)
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะวินิจฉัยฝีที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ซักถามอาการและประวัติทางการแพทย์ เช่น ฝีเกิดขึ้นนานเพียงใด เคยได้รับบาดเจ็บในบริเวณที่เกิดฝีหรือไม่ มีอาการแพ้ต่อสิ่งใดหรือเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่ และกำลังใช้ยาชนิดใดอยู่
- ตรวจร่างกายในบริเวณที่เกิดฝี หรือใช้วิธีการตรวจเฉพาะจุดในบริเวณที่เกิดฝี เช่น หากเกิดฝีขึ้นที่บริเวณแขนหรือขา แพทย์ก็จะคลำตรวจบริเวณที่เกิดฝี หรือถ้าเกิดฝีใกล้ทวารหนัก แพทย์จะใช้การตรวจทางทวารหนัก ซึ่งเป็นการใช้นิ้วสอดเข้าไปในช่องทวารหนักเพื่อคลำตรวจส่วนต่าง ๆ ภายใน
นอกจากนี้ แพทย์อาจต้องใช้การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมหากผู้ป่วยมีฝีขึ้นมากกว่า 1 จุด หรือเคยเกิดฝีแล้วกลับมาเป็นอีก เช่น การตรวจเลือดเพื่อตรวจหาระดับน้ำตาลกลูโคส ซึ่งหากสูงกว่าปกติอาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงสูงในการเกิดฝีที่ผิวหนัง
ส่วนการตรวจหาฝีที่อวัยวะภายใน เป็นการตรวจดูบริเวณที่เกิดฝี ลักษณะของฝี และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน เพื่อให้สามารถวางแผนรักษาได้อย่างถูกต้องต่อไป เช่น
- การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) วิธีนี้เป็นวิธีการตรวจที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงช่วยในการสร้างเป็นภาพอวัยวะภายใน
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography Scan: CT Scan) วิธีนี้เป็นวิธีการสร้างภาพถ่ายอวัยวะภายในจากการฉายรังสีเอ็กซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
- การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) วิธีนี้เป็นวิธีการสร้างภาพอวัยวะภายในที่ต้องการตรวจด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อช่วยให้แพทย์เห็นภาพความผิดปกติของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ประกอบการวินิจฉัยได้ชัดเจนขึ้น
- การตรวจตัวอย่างของเหลวจากฝี ในกรณีที่ตำแหน่งที่เกิดฝีอยู่ไม่ลึก และแพทย์สามารถใช้เครื่องมือเจาะเข้าไปได้โดยไม่เกิดอันตราย แพทย์อาจเจาะนำตัวอย่างของเหลวภายในฝีไปส่งตรวจหาเชื้อเพื่อให้การวินิจฉัยถูกต้องแม่นยำขึ้น