ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว (Post Vacation Blue) คืออารมณ์เศร้า เหงา เป็นกังวลที่เกิดขึ้นหลังจากไปเที่ยวหรือหลังจากหยุดพักผ่อนเป็นระยะเวลาหลายวัน โดยภาวะอารมณ์นี้ไม่ถือว่าเป็นโรคทางจิตเวช และเป็นเรื่องที่สามารถเกิดได้ทั่วไป แต่การรู้วิธีรับมือเมื่อเกิดอารมณ์เศร้าหลังหยุดยาวอาจช่วยให้กลัมาใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น
การไปเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว หรือการพบปะกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงนั้นช่วยลดความเครียด เพิ่มความสุขและทำให้สุขภาพดีขึ้นได้ แต่หลังวันหยุดยาวที่เต็มอิ่มและการท่องเที่ยวที่สนุกสนาน หลายคนก็อาจมีภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว หรือ Post Vacation Blue ได้ โดยอารมณ์นี้อาจเกิดเพียง 2—3 วัน หรือนานกว่านั้น ซึ่งการรู้วิธีรับมือภาวะนี้อาจช่วยให้เราหายจากความเศร้าได้เร็วขึ้น
เช็คอาการภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว
ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว อาจเกิดความรู้สึกและอาการต่าง ๆ เช่น
- เหนื่อยล้า ไม่มีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ เสียสมาธิง่าย เบื่องาน
- รู้สึกว่าไม่รู้ว่าต้องทำอะไรต่อหลังหมดวันหยุดยาว รวมถึงรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว
- วิตกกังวล คิดแต่เรื่องเดิม ๆ ซ้ำไปมา
- อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย
- รู้สึกผิดหวังหลังหมดวันหยุดยาวและต้องจากกับเพื่อนหรือครอบครัว
- มีปัญหาในการนอน นอนมากหรือนอนน้อยไป
สาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว
ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวอาจมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากวันหยุดกลับมาสู่วันธรรมดา ซึ่งทำให้หลายคนปรับตัวไม่ทัน และไม่พร้อมที่จะกลับไปทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ด้วยความที่เคยชินกับการพักผ่อนและท่องเที่ยวสนุกสนานในวันหยุดยาวไปแล้ว โดยวันหยุดที่หมดลงอย่างกะทันหัน และการปรับตัวไม่ทันก็อาจกระตุ้นให้รู้สึกสับสน ไม่รู้จะทำอะไร และรู้สึกเศร้าได้
ยิ่งไปกว่านั้น ความสุขที่เกิดในช่วงวันหยุดยาวมักเป็นสิ่งที่เกิดในระยะสั้น และมักหายไปหลังหมดวันหยุดยาว ซึ่งอารมณ์สุขที่หายไปอย่างรวดเร็วก็อาจทำให้บางคนรู้สึกซึมเซา ขาดความกระตือรือร้น ไม่มีอะไรให้รอคอย รู้สึกสับสน และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวได้
นอกจากนี้ ผู้ที่เบื่องานหรือมีอาการหมดไฟ (Burnout) จากปัญหาในการทำงานต่าง ๆ ก็มักจะมีภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวได้ง่าย เนื่องจากความเบื่อหรือหมดไฟในการทำงานส่งผลให้ไม่พร้อมจะบอกลาวันหยุดยาวและกลับมาทำงานอีกครั้ง
วิธีจัดการภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวง่าย ๆ
บางคนอาจมีภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวเพียงไม่กี่วันก็สามารถปรับตัวและกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อีกครั้ง แต่บางคนก็อาจใช้เวลาหลายวันกว่าจะหายจากอารมณ์เศร้า ดังนั้นการรู้วิธีคลายภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวจึงอาจช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิมมากขึ้น
1. ทำความสะอาดก่อนออกจากบ้าน
การทำความสะอาดบ้านไว้ล่วงหน้า จะช่วยลดความเหนื่อยล้าหรือเบื่อหน่ายที่อาจเกิดขึ้นจากงานบ้านที่ต้องทำหลังกลับมา รวมถึงยังช่วยให้มีเวลาพักผ่อนและปรับตัวก่อนกลับไปใช้ชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บ้านที่สะอาดและน่าอยู่ยังทำให้รู้สึกดีหลังกลับจากการท่องเที่ยวด้วย
2. เขียนบันทึกท่องเที่ยว
การเขียนบันทึกท่องเที่ยว ถ่ายรูป และซื้อของที่ระลึกอาจช่วยยืดระยะเวลาแห่งความสุขหลังจากวันหยุดยาวได้มากขึ้น ถึงแม้จะต้องเริ่มต้นกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติแล้วก็ตาม เพราะบันทึก รูปถ่าย และของที่ระลึกนั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ระลึกถึงความสุขหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้สัมผัสระหว่างไปเที่ยวได้
3. พักผ่อนหลังกลับจากการเที่ยว
การจัดตารางเวลาพักผ่อน 1–2 วัน หลังกลับจากการท่องเที่ยวหรือพบปะเพื่อนฝูงและครอบครัว จะช่วยให้ปรับตัวและเตรียมพร้อมกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น เพราะหากต้องไปทำงานในเช้าวันต่อมาทันทีหลังกลับจากการเที่ยว ก็อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรง และอาจมีภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวได้
4. ปรับมุมมองการทำงาน
หลายคนอาจมีภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว เพราะมีความเบื่อหน่ายหรือหมดไฟกับงานมาก่อนอยู่แล้ว ทำให้การกลับไปทำงานอีกครั้งหลังจากเคยชินกับการพักผ่อนเป็นเรื่องยาก และชวนให้รู้สึกเศร้า ดังนั้นเพื่อให้สามารถกลับไปทำงานได้ง่ายขึ้น ก็อาจใช้วิธีการตั้งเป้าหมายต่าง ๆ ในการทำงาน เช่น การเลื่อนขั้น หรือการได้รับโบนัส
รวมถึงอาจวางแผนสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน เพื่อช่วยให้มีเป้าหมายในการทำสิ่งต่าง ๆ และทำให้เห็นความก้าวหน้า หรือความสำเร็จของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น
5. หาเป้าหมายใหม่
ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวอาจเกิดจากการขาดเป้าหมายซึ่งก็คือวันหยุดพักผ่อนและการท่องเที่ยวที่รอคอยไปอย่างกระทันหัน จนทำให้หลังวันหยุดยาวจบลงก็เกิดความเคว้งคว้าง ไม่รู้จะทำอะไร หรือรู้สึกเศร้าที่วันหยุดจบลงได้ การหาเป้าหมายใหม่หลังกลับจากการเที่ยวจึงอาจช่วยลดความเศร้าและความเคว้งคว้างลงได้ โดยเป้าหมายนั้นอาจเป็นการนัดพบเพื่อนหรือครอบครัว เพื่อเล่าเรื่องราวในวันหยุดและมอบของฝากให้ก็ได้
6. นอนหลับให้เพียงพอ
เมื่อเกิดอารมณ์เศร้า หรือมีภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว หลายคนก็อาจประสบปัญหาในการนอน ทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอได้ ซึ่งการนอนหลับที่น้อยเกินไปนั้นจะยิ่งส่งผลให้เกิดอารมณ์เศร้ามากขึ้น ดังนั้นหลังกลับจากวันหยุดพักผ่อนแล้ว จึงควรนอนให้เต็มอิ่ม หรือนอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมง เพื่อลดอาการเศร้า
เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกเศร้าหลังการท่องเที่ยวหรือหยุดพักผ่อนที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยความสุขจบลง ดังนั้นภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวจึงเป็นสิ่งที่เกิดได้ทั่วไป แต่หากยังมีอารมณ์เศร้าเหงา เปล่าเปลี่ยว เช่นนี้อยู่นานกว่า 2 สัปดาห์ โดยที่ไม่สามารถสลัดความรู้สึกนี้ออกได้ ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวก็อาจมีสาเหตุจากสิ่งอื่นได้ ซึ่งการเข้าปรึกษากับนักบำบัดอาจช่วยให้อารมณ์กลับมามั่นคง และหาสาเหตุที่แท้จริงได้