หลับไม่ฝัน รู้จักสาเหตุและวิธีทำให้จำความฝันได้

หลับไม่ฝัน คือการที่ไม่สามารถจดจำความฝันหลังตื่นนอนได้ จึงคิดว่าตัวเองไม่ได้ฝันขณะหลับ ซึ่งการตื่นนอนโดยจำความฝันไม่ได้เลยนั้นเป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่พบเจอ การหลับไม่ฝันจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล อย่างไรก็ตาม การหลับไม่ฝันในบางกรณีอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาในการนอนหลับ ซึ่งควรได้รับการแก้ไข

ความฝันเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใดนั้นยังไม่มีหลักฐานยืนยันได้แน่ชัด แต่นักวิจัยเชื่อว่าความฝันเป็นกระบวนการที่สมองใช้เพื่อคัดแยกความทรงจำ และจัดการอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างวัน โดยความฝันนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน การที่เราหลับไม่ฝันจึงไม่ได้หมายความว่าเราไม่เข้าสู่กระบวนการเดียวกันนี้ แต่เป็นเพียงเพราะเราไม่สามารถจดจำได้เท่านั้นเอง 

Sleeping without Dreaming.

สาเหตุที่หลับไม่ฝัน

การจดจำความฝันไม่ได้เป็นเรื่องปกติ และไม่ได้บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพหรือปัญหาในการนอน แต่การหลับไม่ฝันในบางกรณีก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ ดังนี้

การไม่เข้าสู่ช่วง REM Sleep 

ในวงจรการนอน ความฝันมักจะเกิดขึ้นในช่วง REM (Rapid Eye Movement) ซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีการทำงานคล้ายกับตอนตื่น และประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ออกมาในรูปแบบความฝัน ดังนั้นความฝันในช่วงเวลานี้จึงเด่นชัดและจดจำได้ง่าย แต่บางครั้งปัจจัยต่าง ๆ ก็อาจทำให้ไม่ได้เข้าสู่ช่วง REM Sleep จนหลับไม่ฝัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ได้แก่

  • นอนหลับไม่เพียงพอ เนื่องจากการดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอลล์ การสูบบุหรี่ รวมถึงความเครียด
  • โรคนอนไม่หลับ ซึ่งทำให้หลับยาก หลับ ๆ ตื่น ๆ อ่อนล้าระหว่างวัน และทำให้ไม่เข้าสู่วงจรการนอนแบบครบถ้วน 
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นภาวะที่กล้ามเนื้อในลำคอผ่อนตัวลงจนอากาศไม่สามารถผ่านไปได้ ผู้ที่เป็นอาจมีอาการกรนเสียงดัง หายใจลำบาก และตื่นมาด้วยอาการปวดหัว หงุดหงิด ง่วงซึม และทำให้เข้าช่วงหลับฝันน้อยลง

ทั้งนี้ หากนอนหลับพักผ่อนเพียงพอและไม่ได้มีปัญหาการนอนแต่ยังจำความฝันไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะการจำความฝันในช่วง REM Sleep ไม่ได้นั้นเป็นเรื่องปกติ ส่วนคนที่จำความฝันได้ก็อาจเป็นเพราะตื่นมาในช่วงเวลานี้พอดีความฝันจึงยังสดใหม่ 

การกินยาต้านเศร้า

การกินยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRIs) และกลุ่มไตรไซคลิก (TCAs) เพื่อรักษาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลอาจทำให้หลับไม่ฝันได้ เนื่องจากยาสามารถลดการเข้าสู่ช่วง REM Sleep และยังทำให้การจดจำความฝันได้ระหว่างวันลดลง

เพศและบุคลิกภาพ

บุคลิกภาพและเพศอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่แต่ละคนมีความสามารถในการจดจำฝันต่างกัน โดยงานวิจัยพบว่าเด็กผู้หญิงในช่วงวัยรุ่นมักจะจดจำความฝันได้มากกว่าเด็กผู้ชายวัยเดียวกัน นอกจากนี้คนที่มีบุคลิกช่างฝันและมีความคิดสร้างสรรค์มักจะจดจำความฝันได้ดีกว่าคนที่อยู่กับความเป็นจริงและเน้นการลงมือทำ 

นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปแล้ว การจำความฝันไม่ได้อาจเป็นเพราะสมองคิดว่าความฝันนั้นเป็นข้อมูลที่ไม่จำเป็น หรืออาจเป็นเพราะสมองต้องการปิดกั้นความฝันที่สมจริงเกินไป เพื่อไม่ให้ความฝันนั้นรบกวนหรือสร้างความสับสนในการใช้ชีวิต

วิธีช่วยให้จำความฝันได้

แม้การหลับไม่ฝันจะไม่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต แต่การจดจำความฝันได้ก็อาจช่วยเสริมสร้างจินตนาการและความสร้างสรรค์ รวมถึงทำให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น หากต้องการจดจำความฝันให้ได้มากขึ้น อาจลองใช้วิธีดังต่อไปนี้

  • จดบันทึกความฝันหลังจากตื่นนอน โดยเขียนถึงความคิด ความรู้สึก รวมถึงภาพที่เกิดขึ้นในความฝัน จะช่วยให้จำความฝันได้ดีขึ้น และแม้จะลืมในภายหลังก็สามารถกลับมาอ่านบันทึกเพื่อทบทวนความจำได้ การจดบันทึกยังช่วยให้สังเกตจิตใจของตัวเองได้ง่ายขึ้นด้วย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอลล์ก่อนนอน เพื่อให้หลับได้เต็มอิ่ม
  • ไม่ควรเล่นโทรศัพท์มาก ๆ ก่อนนอน เพราะอาจทำให้มีสิ่งที่เบี่ยงเบนความคิดจนหลับยากขึ้น และแสงสีฟ้าจากหน้าจอยังอาจขัดขวางไม่ให้สมองพักผ่อนได้ 

การจำความฝันไม่ได้นั้นเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป แต่หากการหลับไม่ฝันมีสาเหตุมาจากปัญหาการนอนก็อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทางกายและใจได้ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ โรคซึมเศร้าและวิตกกังวล หรือโรคหัวใจได้ ดังนั้นหากพบว่าตัวเองหลับไม่ฝันเนื่องมาจากปัญหาในการนอนควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม