ความหมาย ปวดหลัง (Backache)
ปวดหลัง (Backache) เป็นอาการปวดเมื่อย ตึง ร้าว หรือเจ็บที่หลัง สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่บริเวณคอลงไปจนถึงก้นและขา ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ยืน เดินหรือนั่งไม่ถูกท่า การยกของหนัก การได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุและการเล่นกีฬา หรือเป็นผลมาจากโรคต่าง ๆ
ปวดหลังเป็นอาการที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย อาการปวดหลังที่ไม่รุนแรงมากมักดีขึ้นหลังดูแลตัวเองและใช้ยาบรรเทาปวด แต่บางกรณี อาการปวดหลังรุนแรงและเรื้อรังอาจเป็นสัญญาณบอกโรคที่ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์
อาการปวดหลัง
อาการปวดหลังอาจปวดได้หลายรูปแบบ เช่น ปวดตึงกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อย ปวดแสบปวดร้อน และปวดแปลบ นอกจากนี้ อาจไม่ได้ปวดบริเวณหลังเพียงตำแหน่งเดียว แต่อาจปวดตั้งแต่ต้นคอ แผ่นหลัง ลามลงมาที่สะโพกและต้นขา ซึ่งอาการปวดมักแย่ลงเมื่อก้มหรือบิดตัว ยกของหนัก และการยืนหรือนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานาน
หากมีอาการปวดหลังรุนแรงอาจรู้สึกเจ็บปวดมากจนสามารถยืนตรงหรืองอหลังได้ และขยับตัวได้น้อยลง
โดยทั่วไป อาการปวดหลังมักหายในเวลาไม่นาน แต่บางกรณีอาจมีอาการได้หลายวันหรือหลายสัปดาห์ ผู้ที่มีอาการปวดหลังต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือน จะถือว่ามีอาการปวดหลังเรื้อรัง
สาเหตุของอาการปวดหลัง
อาการปวดหลังสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การทำท่าทางที่ไม่ถูกต้องสะสมเป็นเวลานาน การเคล็ดขัดยอก การตึง การอักเสบของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นบริเวณหลัง ปัญหาของหมอนรองกระดูก ปัญหาของกระดูกสันหลังและเส้นประสาท ปัญหาจากโรค หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งอาการปวดหลังจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายและการดำเนินชีวิตประจำวัน
การวินิจฉัยอาการปวดหลัง
อาการปวดหลังโดยทั่วไปถ้าเกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรืออาการเคล็ดขัดยอก ยังไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ในทันที แต่ถ้ารู้สึกว่ามีอาการรุนแรงก็สามารถไปพบแพทย์ได้เช่นกัน โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากอาชีพและกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ทำในช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูว่าเริ่มมีอาการปวดหลังตั้งแต่เมื่อไหร่ มีอาการตรงบริเวณไหน เคยปวดหรือเจ็บหลังมาก่อนหน้านี้หรือไม่
การรักษาอาการปวดหลัง
การรักษาอาการปวดหลังมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ หรือสาเหตุของการทำให้เกิดอาการปวดหลัง ถ้าเป็นอาการปวดในระยะสั้นคือเพิ่งปวดหรือปวดไม่มาก สามารถบรรเทาได้ด้วยตัวเองโดยการทาครีมบรรเทาอาการปวด หรือรับประทานยาแก้ปวดที่วางขายตามร้านขายยาทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลข้างเคียงต่อการทำงานของไตและเกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้
ส่วนอาการปวดรุนแรงหรือเรื้อรัง แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาแก้ปวดควบคู่ไปกับการรักษารูปแบบอื่น เช่น การทำกายภาพบำบัด การฝังเข็ม หรืออาจรวมไปถึงการตรวจจำพวกเอกซเรย์หรือ Magnetic Resonance Imaging (MRI) และการผ่าตัดร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดหลัง
ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้ หากปล่อยไว้นานและไม่รีบเข้ารับการรักษาให้ทันเวลา หากพบว่ามีอาการปวดหลังติดต่อกันนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ไม่บรรเทาหรือมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์
การป้องกันอาการปวดหลัง
การป้องกันอาการปวดหลังสามารถทำได้หลายวิธี โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้หลัง การยืน การเดิน การนั่ง หรือการนอน รวมไปถึงการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงขึ้น ทำให้ยากต่อการอักเสบหรืออ่อนล้าและไม่กลับไปสู่อาการปวดหลังอีก