การรักษาอาการปวดหลัง ปวดหลัง (Backache)
การรักษาอาการปวดหลัง
อาการปวดหลังสามารถรักษาหรือบรรเทาอาการได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะและระดับความรุนแรงของอาการในแต่ละบุคคล ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. การรักษาโดยด้วยตนเอง
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังในเบื้องต้นได้ ดังนี้
- พักผ่อนมาก ๆ หลีกเลี่ยงการออกแรงจนกว่าอาการปวดหลังจะหายดี เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูจากอาการปวด และพยายามไม่เครียด เพราะอาจทำให้อาการหายช้าลง
- ปรับเปลี่ยนท่านอน การทำท่าเดิมนาน ๆ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง เช่น การนอนหงายเป็นเวลานานทำให้น้ำหนักของร่างกายไปกดลงที่กระดูกสันหลัง เพียงยกขาขึ้นและสอดหมอนไปใต้เข่า หรือนอนตะแคงแล้วใช้หมอนสอดไปที่ระหว่างขา จะสามารถช่วยลดน้ำหนักที่กดลง และบรรเทาอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี
- การประคบร้อนหรือประคบเย็น บางคนพบว่ามีอาการดีขึ้นหลังอาบน้ำอุ่นหรือเอาถุงน้ำร้อนมาประคบในบริเวณที่มีอาการ หรือการประคบเย็นโดยนำน้ำแข็งห่อด้วยผ้าแล้วนำมาประคบ ก็สามารถบรรเทาอาการได้เช่นกัน
- ออกกำลังกาย บางครั้งสาเหตุของอาการเจ็บหลังมาจากการยืนหรือนั่งผิดท่า หรือยกของหนักเกินไป การออกกำลังกายในท่าทางที่ถูกต้องและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อบริเวณหลัง จะสามารถบรรเทาอาการปวดได้ เช่น การว่ายน้ำ การเดิน การปั่นจักรยาน การเล่นโยคะ การเล่นพิลาทิส การบริหารและการยืดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
2. การใช้ยาแก้ปวด
ยาที่แพทย์มักจะจ่ายให้กับผู้ที่มีอาการปวดหลัง มีดังต่อไปนี้
- ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เช่น พาราเซตามอล หรือยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน นาพร็อกเซน หรือยาที่ออกฤทธิ์แรงกว่า ยาแก้ปวดถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลข้างเคียงต่อการทำงานของไตในผู้ป่วยบางราย และเกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้
- ยาคลายกล้ามเนื้อ ถ้ามีอาการปวดไม่มาก แพทย์อาจจ่ายยาคลายกล้ามเนื้อให้รับประทาน แต่จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนหรือง่วงนอนได้
- ยาทาบรรเทาอาการปวด อาจอยู่ในรูปแบบครีมหรือขึ้ผึ้ง ใช้ทาบริเวณที่มีอาการปวด
- ยาแก้อาการซึมเศร้า เช่น ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) เพื่อบรรเทาอาการปวดที่หลังได้ โดยอาจไม่เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า
- ยาฉีด หากการใช้ยาบรรเทาอาการปวดรูปแบบอื่น ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดสเตียรอยด์เข้าที่บริเวณรอบ ๆ เส้นประสาทไขสันหลัง หรือในบริเวณที่ปวด ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบรอบเส้นประสาทไขสันหลังได้
3. การทำกายภาพบำบัด
กายภาพบำบัดเป็นการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยบรรเทาอาการปวด ช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้ถูกวิธี และลดอาการบาดเจ็บให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำได้ตามปกติ
โดยแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดหลังสำหรับการบาดเจ็บหรือมีปัญหาสุขภาพระยะยาว เช่น การปวดเรื้อรัง โรคข้ออักเสบ เป็นต้น วิธีการรักษาอาจแตกต่างกันออกไป เช่น การออกกำลังกาย การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับอาการและเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละราย
4. การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy)
การรักษานี้มีจุดประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก และพฤติกรรม โดยนักบำบัดจะวิเคราะห์ความคิดและพฤติกรรม และให้ผู้ป่วยลองคิดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางบวก หลังจบการรักษาแล้วสามารถช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
5. การผ่าตัด
การผ่าตัดใช้รักษาอาการปวดหลังจากบางสาเหตุ เช่น การติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง หรือปวดหลังที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาทจนมีอาการอ่อนแรงที่ขาร่วมด้วย โดยทั่วไปมักจะเป็นทางเลือกท้าย ๆ เมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวดหลังในผู้ป่วยแต่ละรายด้วย
การผ่าตัดอาจช่วยลดการกดทับของเส้นประสาท แต่ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหลังผ่าตัด ในกรณีเส้นประสาทที่อยู่ใกล้กับกระดูกสันหลังได้รับความเสียหาย อาจส่งผลให้เกิดการอ่อนแรงที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง และอาจเป็นอัมพาตได้ในผู้ป่วยบางราย โดยวิธีการผ่าตัดขึ้นอยู่กับชนิดและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย
6. การรักษาโดยการแพทย์ทางเลือก
การรักษาอาการปวดหลังด้วยวิธีแพทย์ทางเลือก เช่น
ไคโรแพรคติก (Chiropractic)
ไคโรแพรคติกเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของการดูแลสุขภาพ สรีระและโครงสร้างของมนุษย์ เป็นการรักษาที่ไม่ใช้ยาและไม่มีการผ่าตัด มุ่งเน้นไปที่การจัดกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และกระดูกบริเวณกระดูกสันหลังโดยใช้มือ อาจได้ยินเสียงที่เกิดจากลมบริเวณข้อต่อ ซึ่งเป็นปกติของการรักษาด้วยวิธีนี้
ไคโรแพรคติกเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังหรือปวดคอจากการเคล็ดขัดยอกตอนยกของหนักเกินไป แต่ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน หรือโรคข้ออักเสบ
การฝังเข็ม
การฝังเข็มเป็นศาสตร์การรักษาทางเลือกรูปแบบหนึ่งของจีนโบราณ โดยจะฝังเข็มที่มีขนาดและความยาวแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของผู้ป่วย ฝังลงไปตามจุดฝังเข็มที่ถูกพิจารณาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึกใต้ผิวหนังและกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endrophins) เพื่อบรรเทาอาการปวด โดยจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 20-40 นาทีต่อครั้ง