ความหมาย มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer)
มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดบริเวณปากมดลูกที่อยู่ส่วนภายในสุดของช่องคลอด เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างช่องคลอดกับมดลูก และเป็นทางผ่านของเลือดประจำเดือน โดยระยะแรกที่เริ่มป่วยมักไม่พบอาการแสดงใด ๆ แต่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการแสดงเมื่อเซลล์มะเร็งได้ลุกลามไปแล้ว
มะเร็งปากมดลูกเป็นภัยเงียบที่ผู้หญิงควรเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ เพราะเป็นหนึ่งในโรคที่ทำให้เสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้โรคลุกลาม โดยรายงานด้านสถิติจากทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่สูงเป็นอันดับต้น ๆ และอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกก็มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ
สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และยังมีสาเหตุอื่นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อมะเร็งปากมดลูกได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในระยะก่อนมะเร็งมดลูก (CIN) ภูมิคุ้มกันต่ำ การสูบบุหรี่ และการมีลูกหลายคน
อาการของมะเร็งปากมดลูก
อาการระยะแรกของมะเร็งปากมดลูกมักไม่ชัดเจน สัญญาณของโรคมักจะเกิดขึ้นเมื่อมะเร็งเริ่มเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว โดยจะมีอาการบ่งชี้ เช่น
- มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ
- ตกขาวมีเลือดหรือหนองปน ช่องคลอดมีกลิ่นผิดปกติ
- ปวดในช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้
- ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด
- ปัสสาวะมีเลือดปน
- ปวดกระดูกบริเวณต่าง ๆ
อาการมะเร็งปากมดลูกที่ควรไปพบแพทย์
หากพบอาการผิดปกติที่อาจเข้าข่ายมะเร็งปากมดลูกในข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที เพราะผู้ป่วยมักเกิดอาการเมื่อมีการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังเนื้อเยื่ออวัยวะอื่น ๆ แล้ว
การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก
แพทย์จะตรวจร่างกาย ตรวจภายใน และตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของเซลล์ที่ปากมดลูกด้วยแปปสเมียร์ (Pap Smear) ซึ่งเป็นการตรวจความสมบูรณ์ของเซลล์บริเวณปากมดลูกว่ามีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผิดปกติหรือไม่
นอกจากนี้ แพทย์จะวินิจฉัยร่วมกับผลการตรวจอื่น ๆ ด้วย เช่น การตรวจปากมดลูกด้วยกล้องคอลโปสโคป (Colposcopy) การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ (Biopsy) การตรวจ HPV DNA Test และการตรวจอื่น ๆ เพื่อประเมินว่ามะเร็งอยู่ในระยะใด เพื่อช่วยในวางแผนการรักษาต่อไป
การรักษามะเร็งปากมดลูก
ขั้นตอนในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกขึ้นอยู่กับระยะและอาการที่ป่วย โดยก่อนรับการรักษา แพทย์กับผู้ป่วยต้องปรึกษาและตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการรักษา ผลกระทบและภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษา การเลือกประเภทการรักษาตามระยะการป่วย โอกาสและเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จจากการรักษา
วิธีการรักษาที่ใช้ในระยะก่อนมะเร็ง คือ การผ่าตัดบางส่วนของปากมดลูกที่มีรอยโรคด้วยวิธี Large Loop Excision of the Transformation Zone (LLETZ) ซึ่งเป็นการตัดเนื้อเยื่อปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า การผ่าตัดแบบ Cone Biopsy ซึ่งเป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อปากมดลูกออกเป็นรูปกรวย และ Laser Therapy หรือก็คือ การใช้เลเซอร์จี้เซลล์ที่ผิดปกติออก และนัดติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด
ส่วนในผู้ป่วยที่ตรวจพบเซลล์มะเร็งแล้ว ต้องรักษาตามระยะและอาการที่พบด้วย เพราะบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการที่มะเร็งลุกลามไปตามส่วนต่าง ๆ และอาจใช้วิธีในการรักษาร่วมกันมากกว่า 1 วิธี โดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายและอาการป่วย
วิธีการรักษาที่ใช้ในผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งแล้ว จะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของคนไข้ตามระดับความรุนแรงของโรคและบริเวณอวัยวะที่ถูกมะเร็งลุกลาม ได้แก่
- รังสีรักษา คือการใช้รังสีพลังงานสูงฉายไปตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
- เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือคีโม คือการใช้ยาเพื่อทำลายหรือยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
- การผ่าตัด (Surgery) เพื่อนำเฉพาะก้อนเนื้อมะเร็งออก หรือกรณีที่มะเร็งมีขนาดใหญ่และลุกลาม อาจต้องผ่าตัดนำปากมดลูก มดลูก รังไข่ออกไป
ผู้ป่วยมะเร็งระยะแรกส่วนใหญ่จะใช้วิธีการรักษาเป็นการผ่าตัดร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด ส่วนผู้ป่วยที่มีการลุกลามของมะเร็งที่มากขึ้นมักใช้วิธีการฉายแสงรังสีรักษาร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งปากมดลูก
หากมะเร็งเริ่มลุกลามไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงรวมถึงกระดูก ตับ ปอด และสมอง จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะภายใน ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ แสดงออกมา
โดยภาวะที่อาจเกิดขึ้นหลังป่วยด้วยมะเร็งปากมดลูก เช่น เจ็บปวดตามร่างกายบริเวณที่มะเร็งลามไปถึง มีภาวะเลือดออกจากช่องคลอด ช่องคลอดมีกลิ่นและเกิดการติดเชื้อ เกิดลิ่มเลือดที่อาจปิดกั้นทางเดินเลือด เกิดช่องทะลุระหว่างเนื้อเยื่ออวัยวะ และไตวาย อีกทั้งอาจพบอาการแทรกซ้อนหลังจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด รังสีรักษา หรือการผ่าตัด
การป้องกันมะเร็งปากมดลูก
วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งจะช่วยป้องกันไวรัสบางสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง HPV-16 และ HPV-18
นอกจากนี้ สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ได้โดยการใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่สูบบุหรี่ ตรวจสุขภาพและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นระยะ หากพบอาการแสดงของโรคที่น่าสงสัยควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก หรือเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่แรกเริ่มก่อนมะเร็งจะลุกลาม