การรักษามะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer)
การรักษามะเร็งปากมดลูกต้องรักษาตามระยะของการป่วยและอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โดยการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคได้มากขึ้น ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาได้ แพทย์จะหาวิธีป้องกันไม่ให้มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะและระบบอื่นในร่างกาย และบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้ต่อไป
โดยอัตราการรอดชีวิตหลังการรักษาภายใน 5 ปี ของผู้ป่วยมะเร็ง ขึ้นอยู่กับระยะของการป่วยที่ตรวจพบและการลุกลามของมะเร็ง ได้แก่
- มะเร็งระยะที่ 1 โอกาสรอดชีวิตมากกว่า 90%
- มะเร็งระยะที่ 2 โอกาสรอดชีวิตประมาณ 60–80%
- มะเร็งระยะที่ 3 โอกาสรอดชีวิตประมาณ 50%
- มะเร็งระยะที่ 4 โอกาสรอดชีวิตน้อยกว่า 30%
แต่ทั้งหมดนี้ยังขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วยด้วย เช่น ความแข็งแรงของผู้ป่วย โรคประจำตัวเดิม เป็นต้น
การรักษาสำหรับผู้ที่อยู่ในระยะก่อนมะเร็ง
วิธีการรักษาสำหรับผู้ที่อยู่ในระยะก่อนมะเร็ง (CIN) มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการพัฒนาของเซลล์มะเร็ง โดยแพทย์จะผ่าตัดและทำลายเนื้อเยื่อผิดปกติที่เกิดขึ้นด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- Large Loop Excision of the Transformation Zone (LLETZ) เป็นวิธีการตัดเนื้อเยื่อปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า
- Cone Biopsy เป็นวิธีผ่าตัดเล็กที่ตัดเอาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติออกไป
- Laser Therapy เป็นการผ่าตัดด้วยการยิงลำแสงเลเซอร์ทำลายเซลล์ที่ผิดปกติที่อาจก่อมะเร็งในอนาคตได้
การรักษาสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็ง
ผู้ที่ทราบผลว่าป่วยเป็นมะเร็งแล้ว หากป่วยระยะแรกเริ่มที่ตรวจพบมะเร็ง แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อบางส่วนออก หรืออาจผ่าตัดเอามดลูกออกไป และการใช้วิธีรังสีรักษา (Radiotherapy) สำหรับผู้ป่วยในระยะที่มะเร็งลุกลาม จะรักษาด้วยรังสีรักษา (Radiotherapy) เคมีบำบัด (Chemotherapy) และการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะเลือกใช้ตามการลุกลามของมะเร็ง
โดยการรักษาแต่ละรูปแบบมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1. การผ่าตัด
การผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งปากมดลูก มีหลายวิธี เช่น
การผ่าตัดนำชิ้นเนื้อมะเร็งออกไป
การผ่าตัดรูปแบบนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกขนาดเล็ก แพทย์อาจตัดเฉพาะชิ้นเนื้อมะเร็งออกไปในระหว่างการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ เช่น การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า (LEEP) และการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกออกเป็นรูปกรวย (Cone Biopsy) หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถมีบุตรได้ตามปกติ
การผ่าตัดแบบการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยแบบกว้าง (Radical Trachelectomy)
การผ่าตัดนี้คือการตัดเนื้อเยื่อปากมดลูกและบริเวณใกล้เคียงที่เหนือช่องคลอดขึ้นไป โดยที่มดลูกยังคงอยู่เช่นเดิม เป็นการผ่าตัดผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกที่มะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ และเหมาะสำหรับผู้ที่ยังต้องการมีบุตร เพราะแม้จะผ่าเอาปากมดลูกออกไป แต่ยังมีมดลูกจึงสามารถมีบุตรได้เช่นเดิม
การตัดมดลูกและปากมดลูกออก (Hysterectomy)
ในการผ่าตัดนี้ มดลูกและปากมดลูกจะถูกผ่าตัดออกไป ในบางกรณีอาจต้องผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อและต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง รังไข่ และปีกมดลูกออกไปด้วยขึ้นอยู่กับการลุกลามของมะเร็ง
ส่วนผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดวิธีนี้ เช่น ติดเชื้อที่อวัยวะภายใน มีภาวะเลือดออกหรือเลือดอุดตัน เกิดความเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์เพราะช่องคลอดสั้นลงและแห้งขึ้นจากการผ่าตัดเอาปากมดลูกออกไป แขนขาบวมจากภาวะบวมน้ำเหลือง หรือลำไส้อุดตันจากการเกิดรอยแผลหลังการผ่าตัด และภาวะวัยทองก่อนกำหนดในผู้ที่ผ่าตัดเอารังไข่ออกไป
การผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้าง (Pelvic Exenteration)
การผ่าตัดนี้จะใช้ในรายที่มะเร็งลุกลาม หรือกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำหลังจากการรักษาด้วยวิธีอื่นไปแล้ว โดยการผ่าตัดจะมี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นแรกจะผ่าเอาอวัยวะอย่างปากมดลูก มดลูก รังไข่ ปีกมดลูก เนื้อเยื่อช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ตรงที่มีการลุกลามของมะเร็งออกไป
แล้วขั้นต่อมา คือ การผ่าตัดสร้างรู 2 รู บริเวณหน้าท้อง เพื่อให้เป็นทางผ่านของเสียทั้งปัสสาวะและอุจจาระออกจากร่างกายมากักเก็บอยู่ที่ถุงเก็บ (Urine Bags และ Colostomy Bags) ส่วนการผ่าตัดเนื้อเยื่อช่องคลอดออกไป แพทย์จะใช้เนื้อเยื่อจากส่วนอื่นของร่างกายมาทดแทน ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีกิจกรรมทางเพศได้ตามปกติหลังการผ่าตัดและฟื้นตัวแล้ว
2. การบำบัดแบบรังสีรักษา (Radiotherapy)
รังสีรักษาเป็นการฉายรังสีบริเวณที่เกิดมะเร็ง เพื่อควบคุมภาวะเลือดออกและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น สามารถรักษาร่วมกับการผ่าตัดหรือการเคมีบำบัดในผู้ป่วยระยะมะเร็งลุกลามได้
โดยรังสีรักษาที่ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก มี 2 วิธี คือ การฉายรังสีภายนอก เป็นการใช้เครื่องฉายคลื่นรังสีพลังงานสูงไปยังบริเวณอุ้งเชิงกรานภายนอกเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งภายใน และการให้รังสีภายใน เป็นการสอดโลหะกัมมันตภาพรังสีเข้าไปทางช่องคลอดและวางไว้บริเวณที่มีเซลล์มะเร็ง
การทำรังสีรักษาต้องทำซ้ำ ๆ หลายสัปดาห์ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี แต่การใช้รังสีก็เป็นการทำลายเซลล์เนื้อเยื่อที่ปกติในบริเวณใกล้เคียงที่ได้รับรังสีไปด้วย ทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการรักษาตามมา เช่น อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ท้องร่วง เลือดออกในช่องคลอด เจ็บปวดขณะปัสสาวะหรือขณะมีเพศสัมพันธ์ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งหากไม่มีอวัยวะใดถูกทำลายอย่างถาวร อาการเหล่านี้จะดีขึ้นและหายไปหลังจบการรักษา
3. เคมีบำบัด (Chemotherapy)
เคมีบำบัดเป็นการใช้ยารักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากมะเร็ง และป้องกันการลุกลามของเซลล์มะเร็ง ในรูปแบบยาเม็ดรับประทานหรือยาฉีด สามารถใช้ร่วมกับรังสีรักษาได้ และสามารถใช้ยารักษาเพียงชนิดเดียวหรือใช้ยาร่วมกันหลายชนิดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งได้เช่นกัน
ในกระบวนการรักษา ผู้ป่วยต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยร่างกายและอาการป่วยให้แน่ชัด เพื่อการเลือกจ่ายยารักษาให้ตรงตามอาการที่ป่วย โดยผู้ป่วยที่รักษาด้วยเคมีบำบัดจะได้รับผลข้างเคียงจากการรักษา อย่างการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง อ่อนล้า หมดแรง ไม่อยากอาหาร ผมร่วง เสี่ยงต่อการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนอื่นได้ง่าย
หากไม่มีโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย หลังหยุดการรักษาระยะหนึ่ง อาการก็จะทุเลาลงและกลับมาเป็นปกติในที่สุด หลังเข้ารับการรักษาจนหายดีและไม่มีเซลล์มะเร็งปรากฏอีก ผู้ป่วยยังคงต้องมาพบแพทย์และตรวจร่างกายอยู่เสมอ เพื่อตรวจหาสัญญาณและความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งซ้ำอีก โดยแพทย์จะนัดมาตรวจร่างกายเป็นระยะ
ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่อยู่ในระหว่างรับการรักษา หรือผู้ป่วยที่มะเร็งลุกลามแล้วไม่สามารถรักษาได้ ยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยการรักษาสุขภาพ สุขอนามัย อยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของแพทย์อยู่เสมอ