การป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer)
มะเร็งปากมดลูกมีวิธีการป้องกันการเกิดโรคได้ดังนี้
ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV บริเวณปากมดลูกด้วยการใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ รวมทั้งไม่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะลดประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันร่างกายที่จะกำจัดไวรัส HPV ให้หมดไป ไวรัสที่ตกค้างอาจก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งได้ในอนาคต และรีบไปพบแพทย์หากพบอาการแสดงของโรคที่น่าสงสัย
ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ
ผู้หญิงทุกวัยล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก การตรวจสุขภาพประจำปีจะทำให้ทราบสุขภาพร่างกายและปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น และควรตรวจเพิ่มด้วยชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก Cervical Screening Test ที่อาจช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว และสามารถเข้ารักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
ทั้งนี้ ผู้หญิงช่วงอายุ 21–29 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก ๆ 3 ปี ส่วนช่วงอายุ 30-65 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกควบคู่กับการตรวจหาเชื้อ HPV ทุก ๆ 5 ปี และผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่ตรวจแต่ไม่เคยตรวจพบสัญญาณของมะเร็ง ก็สามารถหยุดเข้ารับการตรวจได้ แต่หากอาการผิดปกติหรือสงสัยควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
การฉีดวัคซีนป้องกัน
ในปัจจุบันมีวัคซีน HPV ที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้บางสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง HPV-16 และ HPV-18 วัคซีนจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนภูมิคุ้มกันต่อไวรัส HPV (Neutralizing Antibody)
โดยวัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อผู้หญิงยังไม่มีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกาย ดังนั้น จึงควรฉีดวัคซีนตั้งแต่วัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ การฉีดวัคซีนให้ได้ผลป้องกันที่ดีที่สุด คือ ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัย 9–26 ปี วัคซีนอาจออกฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้นานถึง 10 ปี หรือมากกว่า และมีประสิทธิผลทางการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกประมาณ 70–90%
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ในประเทศไทยสามารถรับวัคซีนได้ทั้งในสถานพยาบาลของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งการฉีดวัคซีน HPV จะต้องฉีดให้ครบทั้งหมด 3 เข็มในช่วงเวลาที่กำหนด โดยฉีดครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร คือ ครั้งแรกฉีดในวันที่กำหนดเลือกไว้ ครั้งที่ 2 ฉีดภายใน 1–2 เดือนถัดมา และครั้งที่ 3 ฉีดหลังจากครั้งแรก 6 เดือน
วัคซีน HPV มีความปลอดภัยสูงและมักไม่ค่อยมีผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือเป็นอันตราย โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ เกิดรอยอักเสบ บวมแดง หรือคันบริเวณที่ฉีด และรอยจะหายไปในภายหลัง หรืออาจปวดหัว มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นช่วงสั้น ๆ แล้วอาการจะทุเลาลงและหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป
แม้วัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV ที่นำไปสู่การก่อมะเร็ง แต่ปัจจัยอื่นก็สามารถเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน ดังนั้น การดูแลรักษาสุขภาพอยู่เสมอควบคู่กับการตรวจเช็กสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม