การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer)
การตรวจหามะเร็งปากมดลูก มีหลายวิธี เช่น
การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear)
Pap Test หรือการตรวจแปปสเมียร์ เป็นวิธีการขั้นต้นที่สูตินรีแพทย์ใช้ตรวจด้วยชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Cervical Screening Test) เพื่อการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกและเซลล์บริเวณช่องคลอด
โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดทางช่องคลอด และเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูก เพื่อนำเนื้อเยื่อเซลล์ไปตรวจหาเซลล์มะเร็งหรือเชื้อที่จะก่อมะเร็ง เป็นวิธีที่ตรวจหามะเร็งได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง หากตรวจพบเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์มีการแบ่งตัวผิดปกติ
แต่บางครั้ง อาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับปากมดลูกและช่องคลอดที่ตรวจพบจากชุดตรวจมดลูก Cervical Screening Test ก็อาจไม่ใช่มะเร็งปากมดลูกเสมอไป แต่เป็นอาการของโรคอื่น เช่น หนองในเทียม แพทย์จึงอาจใช้การตรวจพิเศษชนิดอื่นซึ่งเป็นการตรวจทางเซลล์วิทยา (Cytology) เพิ่ม เพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัดยิ่งขึ้น
การตรวจปากมดลูกด้วยกล้องคอลโปสโคป (Colposcopy)
สูตินรีแพทย์จะส่องกล้องตรวจความผิดปกติของเนื้อเยื่อปากมดลูก โดยสอดกล้องขยายขนาดเล็กเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อตรวจหาลักษณะของปากมดลูกและเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ หากพบความผิดปกติ แพทย์อาจติดเนื้อเยื่อเพื่อนำส่งตรวจต่อไป
การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ (Biopsy)
การตัดชิ้นเนื้อเป็นการผ่าตัดเล็กเพื่อนำชิ้นเนื้อที่น่าสงสัยส่งยังห้องปฏิบัติการ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก
การตัดชิ้นเนื้อมีหลายวิธี เช่น การขูดเยื่อบุมดลูกมาตรวจทางพยาธิวิทยา (Endocervical Curettage) การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า (Loop Electrosurgical Excision Procedure: LEEP) และการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกออกเป็นรูปกรวย (Cone Biopsy)
การตรวจคัดกรองด้วย HPV DNA Test
การตรวจคัดกรองด้วย HPV DNA Test เป็นการตรวจหาเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ก่อมะเร็ง เช่น HPV-16 และ HPV-18 ที่บริเวณปากมดลูกและผนังช่องคลอด โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์เก็บตัวอย่างเซลล์ และนำส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ
ในบางกรณี การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอาจใช้วิธีตรวจแปปสเมียร์และการตรวจ HPV DNA Test ร่วมกัน ซึ่งเรียกว่าการตรวจแบบ Co-testing
หากตรวจพบเซลล์มะเร็งปากมดลูก แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น PET Scan อัลตราซาวด์ เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เอกซ์เรย์ทรวงอก (Chest X-ray) และตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อประเมินว่ามะเร็งอยู่ในระยะใด เพื่อช่วยในวางแผนการรักษาต่อไป
โดยแนวทางการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ใช้ในประเทศไทย แบ่งตามกลุ่มอายุ ดังนี้
ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 21 ปี
ยังไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ยกเว้นผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ควรเน้นที่การป้องกันมะเร็งปากมดลูกโดยการฉีดวัคซีนและการให้ความรู้ของการมีเพศสัมพันธ์
ผู้หญิงอายุ 21–29 ปี
ให้เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่อายุ 21 ปี ด้วยการคัดกรองแบบเซลล์วิทยาอย่างเดียวทุก 3 ปี
ผู้หญิงอายุ 30–65 ปี
แนะนำให้ใช้การตรวจทั้งสองแบบร่วมกัน (Co-testing) ทุก 5 ปี หรือตรวจคัดกรองโดยเซลล์วิทยาเพียงอย่างเดียวทุก 3 ปี โดยการตรวจแบบ Co-testing จะเพิ่มความไวในการตรวจหารอยโรคขั้นสูง มีประสิทธิภาพในการทำนายผลลบสูงมาก (เกือบ 100%) หากผลออกมาปกติจะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกน้อยมาก จึงสามารถเว้นระยะห่างของการตรวจคัดกรองอย่างปลอดภัยได้ทุก 5 ปี
ผู้หญิงอายุมากกว่า 65 ปี
หากมีประวัติผลคัดกรองปกติ คือ ตรวจคัดกรองเซลล์วิทยาทุก 3 ปี ผลออกมาปกติต่อเนื่อง 3 ครั้ง หรือ Co-testing ทุก 5 ปี ติดต่อกัน 2 ครั้ง และผลคัดกรองครั้งสุดท้ายไม่เกิน 5 ปี โดยไม่มีประวัติเซลล์ปากมดลูกผิดปกติภายใน 20 ปี ก็ไม่ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอีก
หากไม่มีประวัติที่มีความเสี่ยง เช่น มีคู่นอนคนใหม่ ส่วนผู้หญิงอายุมากกว่า 65 ปีที่เคยมีประวัติผลเป็นบวกมาก่อน ควรตรวจตัดกรองต่อไปอย่างน้อย 20 ปี
นอกจากนี้ ในกรณีผู้หญิงที่ตัดมดลูกรวมทั้งตัดปากมดลูก (Total Hysterectomy) ไม่ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกต่อไป ส่วนผู้ที่ป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน HPV แล้ว ก็ควรตรวจคัดกรองตามกลุ่มอายุตามปกติด้วยเช่นกัน
แนวทางการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามกลุ่มอายุนี้สามารถใช้ตรวจในผู้หญิงทั่วไปได้ ยกเว้นกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อย่างผู้ที่มีประวัติเคยเป็นมะเร็งปากมดลูก ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV หรือ ผู้ที่ได้รับสาร Diethylstilbestrol (DES) ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ผู้ป่วยที่ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกพบผลผิดปกติจะได้รับการตรวจคัดกรองถี่ขึ้น ซึ่งวิธีการตรวจหามะเร็งปากมดลูกจะขึ้นอยู่กับดุลยวินิจของแพทย์ตามแต่กรณี