การป้องกันวัณโรค วัณโรค (Tuberculosis)
วัณโรคแม้จะเป็นโรคที่อันตราย แต่ก็สามารถป้องกันได้ โดยวิธีการป้องกันในขั้นพื้นฐานคือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ควรอยู่ใกล้ผู้ป่วยวัณโรคเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องอยู่ใกล้ผู้ป่วย ควรป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ วัณโรคยังสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีควัคซีนบีซีจี (BCG)
วัคซีนป้องกันวัณโรค (Bacillus Calmette-Guérin: BCG) ภายในวัคซีนป้องกันวัณโรคจะประกอบไปด้วยเชื้อวัณโรคที่ถูกทำให้เชื้ออ่อนแรงลงในปริมาณเพียงเล็กน้อย กลไกการทำงานของวัคซีนคือเชื้อที่ฤทธิ์อ่อนลงจะเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สามารถรับมือกับเชื้อวัณโรคได้
ในประเทศไทย วัคซีนบีซีจีจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ฉีดให้เด็กแรกเกิดทุกคน โดยเมื่อฉีดแล้วภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังจากฉีดไปแล้วภายใน 4-6 สัปดาห์ และสามารถอยู่ได้นาน 10 ปี สามารถป้องกันวัณโรคได้ประมาณ 80% และยังลดความเสี่ยงโรควัณโรคที่เยื่อหุ้มสมองในเด็กได้ แต่วัคซีนไม่สามารถป้องกันวัณโรคปอดในผู้ใหญ่ได้ หากเคยฉีดวัคซีนบีซีจีมาแล้วก็ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอดได้
ส่วนในการฉีดวัคซีนบีซีจีผู้ใหญ่จะฉีดให้คนที่มีอายุต่ำว่า 35 ปีที่ทำงานในสถานพยาบาล ห้องปฏิบัติการที่ต้องทำงานกับเชื้อโรค ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องทำงานในพื้นที่ที่แออัด เช่น เรือนจำ เนื่องจากไม่มีการพบว่าวัคซีนจะได้ผลหรือไม่กับกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 35 ปี
ทั้งนี้ กลุ่มคนที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ ได้แก่
- ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนบีซีจีมาก่อน
- ผู้ที่เคยมีประวัติการติดเชื้อวัณโรค
- ผู้ที่มีผลการตรวจทางผิวหนังที่ค่อนข้างรุนแรง
- ผู้ที่มีการตรวจพบว่ามีอาการแพ้ส่วนประกอบวัคซีนบีซีจีอย่างรุนแรง
- เด็กแรกเกิดที่อาศัยอยู่กับผู้ที่มีการติดเชื้อวัณโรค
- ผู้ที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยโรคเอดส์และโรคมะเร็ง
วัคซีนจะถูกให้ด้วยการฉีดที่บริเวณต้นแขนซ้าย หลังจากได้รับวัคซีนแล้วอาจรู้สึกไม่สบายตัว อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น และประมาณสัปดาห์ที่ 2 หลังจากฉีดวัคซีนจะมีตุ่มนูนเกิดขึ้น และแตกออกเป็นแผลเล็ก ๆ ที่มีหนอง อาการนี้จะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ประมาณ 6 สัปดาห์ โดยในช่วงนี้การป้องกันของวัคซีนอาจยังไม่เริ่มทำงานจนกว่าอาการต่าง ๆ จะเข้าสู่ภาวะปกติ
หลังจากฉีดวัคซีนบีซีจีแล้วจะต้องเว้นระยะการฉีดวัคซีนอื่นที่แขนข้างที่ฉีดอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนในสตรีที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตรก็สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ภูมิคุ้มกันจะทำงานได้ช้าโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ในช่วงแรก