ความหมาย วัณโรค (Tuberculosis)
วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) คือโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง ซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านทางอากาศได้ด้วยการหายใจ การจาม การไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้ง่าย โดยวัณโรคเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก
วัณโรคมักเกิดขึ้นที่ปอด แต่บางครั้งอาจเกิดที่อวัยวะอื่น เช่น สมอง กระดูกสันหลัง และไต ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาการอาจรุนแรงขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งผู้ป่วยต้องรับประทานยารักษาวัณโรค (Antituberculosis) อย่างต่อเนื่องประมาณ 6–9 เดือน
ในช่วง 10–14 วันหลังการรักษา ผู้ป่วยมักจะไม่สามารถแพร่เชื้อ TB ให้ผู้อื่นได้อีก แต่โดยผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาวัณโรคต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย 6 เดือนจนกว่าจะหายดีและป้องกันไม่ให้เชื้อวัณโรคแพร่กระจายไปยังผู้อื่น
อาการของวัณโรค
อาการวัณโรคจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก (Primary TB) ระยะแฝง (Latent TB) และระยะแสดงอาการ (Active TB) โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้ว เชื้อจะพัฒนาไปอย่างช้า ๆ อาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไปจนถึงหลายปีกว่าจะแสดงอาการใด ๆ ให้เห็น
ระยะแรก (Primary TB)
ระยะนี้เป็นระยะที่แบคทีเรียเริ่มเข้าสู่ร่างกาย คนส่วนมากที่สุขภาพแข็งแรงมักไม่แสดงอาการ แต่บางคนอาจอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไอ มีไข้ต่ำ และอ่อนเพลีย หากมีร่างกายไม่แข็งแรง เชื้อแบคทีเรียอาจเติบโตและพัฒนาไปสู่ระยะถัดไปได้
ระยะแฝง (Latent TB)
ในระยะแฝง เชื้อแบคทีเรียก็ยังคงอยู่ในร่างกายแต่ยังไม่แสดงอาการ หากผู้ป่วยมีการตรวจพบเชื้อในช่วงระยะแฝง แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาการจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ
ระยะแสดงอาการ (Active TB)
ในระยะนี้สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น ๆ ได้ เนื่องจากเป็นระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนเกิดอาการต่าง ๆ โดยอาการจะปรากฎให้เห็นได้ชัดเจนหลังจากที่ได้รับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายประมาณ 2–12 สัปดาห์ ซึ่งผู้ใหญ่และวัยรุ่นอาจมีอาการดังนี้
- ไอเรื้อรัง และไอเป็นเลือด
- เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ
- อ่อนเพลีย
- มีไข้ หนาวสั่น เหงื่อออกในเวลากลางคืน
- น้ำหนักลด และความอยากอาหารลดลง
เด็กที่เป็นวัณโรคอาจมีไข้ที่ไม่ยอมลดลง น้ำหนักตัวลดลง เซื่องซึม ร้องไห้งอแง อาเจียน และไม่ยอมดื่มนมหรือกินอาหาร
โดยส่วนใหญ่แล้ววัณโรคจะแสดงอาการที่ปอด ซึ่งเรียกว่าวัณโรคปอด แต่เชื้อก็สามารถกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ไต ตับ สมอง ไขสันหลัง กล้ามเนื้อหัวใจ ต่อมน้ำเหลือง กระดูกและข้อ ผิว และกล่องเสียง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่างกัน
สาเหตุของวัณโรค
สาเหตุของวัณโรคเกิดจากการติดเชื้อไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) ที่สามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศโดยผ่านทางการไอ จาม การพูด และการหายใจ โดยความเสี่ยงของวัณโรคจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น
- เคยพักอาศัย หรือเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคจำนวนมาก
- เคยมีการติดต่อและสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
- มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากโรคร้ายแรง เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และผู้ติดเชื้อ HIV
- อยู่ในระหว่างการรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน
- มีสุขภาพไม่ดี จากปัญหาทางด้านโภชนาการ ติดยาเสพติด หรือพิษสุราเรื้อรัง
- เป็นเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยที่เสี่ยงต่อติดเชื้อวัณโรค เนื่องจากมีสุขภาพที่อ่อนแอกว่าคนในวัยผู้ใหญ่
ในขณะที่ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้น้อยกว่า เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดเชื้อได้เองตามธรรมชาติ หรือหากเคยได้รับเชื้อมาก่อนแล้วผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง เชื้อก็จะไม่แสดงอาการใด ๆ เช่นกัน
การวินิจฉัยวัณโรค
การหากมีอาการวัณโรค ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย เนื่องจากอาการวัณโรคมักจะคล้ายกับอาการของโรคอื่น โดยในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การเอกซเรย์ทรวงอก การตรวจเลือด และการตรวจเสมหะ นอกจากนี้ อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อวัณโรค
การรักษาวัณโรค
การรักษาวัณโรคทำได้ด้วยดูแลสุขภาพควบคู่กับการรับประทานยาทุกวันอย่างน้อย 4–6 เดือน แม้จะไม่มีอาการแล้วก็ตาม เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ ป้องกันการติดเชื้อวัณโรคซ้ำ และป้องกันเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (Multidrug-Resistant TB)
โดยยาที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษา ได้แก่ ไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) อีแทมบูทอล (Ethambutol) ไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide)
หากผู้ป่วยมีอาการดื้อยา ก็อาจจะต้องใช้ยาตัวอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) และยาลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยาที่ใช้ในการรักษาวัณโรคนั้นเป็นยาที่มีผลข้างเคียงรุนแรง และอาจเป็นพิษต่อตับ ดังนั้นในการรักษา แพทย์และผู้ป่วยจึงต้องร่วมมือกันสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันทีเพื่อความปลอดภัย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ความอยากอาหารลดลง
- หายใจลำบาก
- มีไข้ติดต่อกันหลายวันอย่างไม่มีสาเหตุ
- มีอาการบวมที่บริเวณใบหน้าและลำคอ
- มีปัญหาในการมองเห็น
- ผิวซีดเหลือง
- ปัสสาวะสีเข้มขึ้นผิดปกติ
ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรค
ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรคมักเกิดขึ้นจากการรักษาที่ล่าช้าหรือการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง โดยอาการของภาวะแทรกซ้อนอาจไม่รุนแรง เช่น ปวดหลัง ไอเป็นเลือด ภาวะขาดสารอาหาร ฝีในปอด ภาวะน้ำในช่องหุ้มปอด และข้อต่อกระดูกอักเสบ
ในบางกรณี ภาวะแทรกซ้อนอาจรุนแรงถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปัญหาเกี่ยวกับตับและไต และโรคหัวใจจากการที่เชื้อวัณโรคกระจายไปที่อวัยวะอื่น ๆ
การป้องกันวัณโรค
การป้องกันวันโรคทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และระมัดระวังในการอยู่ใกล้กับผู้ป่วยวัณโรคเป็นเวลานาน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย
นอกจากนี้ การได้รับวัคซีนบีซีจี (BCG) ก็สามารถช่วยป้องกันวัณโรค ซึ่งวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้เด็กแรกเกิด และเป็นวัคซีนที่เจ้าหน้าที่ต้องฉีดเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานในสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือต้องคอยดูแลผู้ป่วยวัณโรคที่อายุต่ำกว่า 35 ปี ประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่ที่ประมาณ 80% และมีระยะเวลาในการป้องกันยาวนาน 10–15 ปี