อาการของวัณโรค วัณโรค (Tuberculosis)
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อไมโคแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) แล้ว อาจไม่มีอาการที่แสดงให้เห็นได้โดยทันที เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่ป้องกันการจู่โจมของเชื้อในร่างกาย ทำให้เชื้อชนิดนี้ค่อย ๆ พัฒนาไปอย่างช้า ๆ อาจจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกไม่สบาย และอาจจะใช้เวลานานนับเดือนไปจนถึงหลายปีกว่าอาการของโรควัณโรคจะเริ่มแสดงให้เห็น
ทั้งนี้วัณโรคจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะใหญ่ ๆ ได้แก่
ระยะแรก (Primary TB)
ระยะนี้เป็นระยะที่แบคทีเรียเริ่มเข้าสู่ร่างกาย เซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันดักจับและกำจัดเชื้อโรคออกจากร่างกาย แต่เชื้อโรคบางชนิดอาจยังคงอยู่ในร่างกายและเพิ่มจำนวนขึ้นได้ คนส่วนมากที่สุขภาพแข็งแรงมักไม่แสดงอาการ แต่บางคนอาจอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไอ มีไข้ต่ำ และอ่อนเพลีย หากมีร่างกายไม่แข็งแรง เชื้อแบคทีเรียอาจเติบโตและพัฒนาไปสู่ระยะถัดไปได้
ระยะแฝง (Latent TB)
ในระยะแฝงเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น เนื่องจากเชื้อไม่ได้รับการกระตุ้น แต่เชื้อแบคทีเรียยังคงอยู่ในร่างกาย และสามารถก่อให้เกิดอาการจนเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้ หากผู้ป่วยมีการตรวจพบเจอเชื้อในช่วงระยะแฝง แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาการจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ
ผู้ป่วยในระยะนี้กว่า 90% จะไม่มีอาการป่วยและไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ มีเพียงบางรายที่จะป่วยเป็นวัณโรค และกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มีการพัฒนาของเชื้อจะป่วยหลังจากได้รับเชื้อภายใน 2 ปี โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือบกพร่อง ส่วนที่เหลืออาจมีอาการแสดงหลังจากติดเชื้อหลายปี เช่น ผู้ป่วยเด็กอาจมีอาการแสดงในช่วงวัยผู้ใหญ่ และหากไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตได้ภายใน 2 ปี
ระยะแสดงอาการ (Active TB)
ระยะแสดงอาการคือระยะที่เชื้อแบคทีเรียได้รับการกระตุ้นจนแสดงอาการออกมา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังจากการติดเชื้อไปจนถึงหลายปีหลังจากได้รับเชื้อ ทั้งนี้ เชื้อจะสามารถแสดงอาการได้ทั้งในปอด หรือที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นที่ปอด โดยอาการของวัณโรคที่เกิดในปอด มีดังนี้
- มีอาการไอติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- มีอาการไอเป็นเลือด
- เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะขณะหายใจหรือไอ
- อ่อนเพลีย
- มีอาการไข้ หนาวสั่น
- มีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน
- น้ำหนักลดอย่างไม่มีสาเหตุ
- ความอยากอาหารลดลง
ส่วนในกรณีที่พบได้น้อยที่เชื้อวัณโรคจะแสดงอาการกับส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เชื้อจะแสดงอาการได้กับอวัยวะหลายส่วน เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูกและข้อ ระบบขับถ่าย กระเพาะปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ หรือแม้แต่ระบบประสาทและสมอง โดยอาการมีดังต่อไปนี้
- ต่อมน้ำเหลืองบวมขึ้นเรื่อย ๆ
- ปวดท้อง
- ปวดหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวบริเวณกระดูกและข้อต่อที่เกิดการติดเชื้อวัณโรคได้
- มีอาการสับสน มึนงง
- ปวดศีรษะเรื้อรัง
- มีอาการชัก
นอกจากนี้ หากเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปยังบริเวณกระดูกสันหลัง ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง หรือหากแพร่ไปยังไต ก็อาจทำให้เกิดอาการปัสสาวะเป็นเลือดได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี การติดเชื้อวัณโรคที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายนั้นเกิดขึ้นได้น้อย โดยมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด