ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรค วัณโรค (Tuberculosis)
หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนลดลง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมีตั้งแต่อาการไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต เช่น
- ปวดตึงบริเวณหลัง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยวัณโรค
- ข้อต่ออักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นที่บริเวณสะโพกและเข่า
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหัวเรื้อรัง และอาจส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพจิต
- ปัญหาเกี่ยวกับตับและไต ตับและไตมีหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากกระแสเลือด แต่เชื้อวัณโรคอาจส่งผลให้ทั้ง 2 อวัยวะนี้เกิดปัญหาในระยะยาวจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติได้
- โรคหัวใจ วัณโรคจะเข้าไปจู่โจมบริเวณเนื้อเยื่อใกล้กับหัวใจจนทำให้เกิดการอักเสบและเกิดการคั่งของของเหลวทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้น้อย
นอกจากนี้ เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดวัณโรคอาจส่งผลให้ไอเป็นเลือด เกิดฝีในปอด และภาวะน้ำในช่องหุ้มปอดที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ในผู้ป่วยวัณโรคยังสามารถพบอาการดื้อยา (Drug Resistant TB) ได้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แพทย์ต้องนำตัวอย่างเสมหะไปเพาะเลี้ยงเชื้อ และทดสอบความไวต่อยาก่อนเริ่มทำการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการดื้อยาคือผู้ป่วยกลุ่มต่อไปนี้
- กลุ่มผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อน ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่ล้มเหลวในการรักษาเนื่องจากการดื้อยา หรือผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำ
- กลุ่มผู้ป่วยที่กำลังรักษา แต่ยังพบเชื้อแม้จะสิ้นสุดการรักษาเดือนที่ 3 และเดือนที่ 5
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติว่าเคยสัมผัสผู้ป่วยที่มีกรณีดื้อยา และมีอาการต้องสงสัยว่าจะเป็นวัณโรค
ในการรักษาในกรณีดื้อยา แพทย์จะต้องได้รับผลการยืนยันก่อนว่าผู้ป่วยมีภาวะดื้อยาจึงจะสามารถรักษาได้ ซึ่งแพทย์จะทำการปรับเปลี่ยนยาตามความเหมาะสมเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น