การรักษาวัณโรค วัณโรค (Tuberculosis)
การรักษาวัณโรคนั้นสามารถรักษาให้หายได้ โดยการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การใช้ยา ซึ่งการรับประทานอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอจะช่วยควบคุมและรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยก็ต้องมีการดูแลสุขภาพควบคู่กันไปด้วยดังนี้
- หากรู้สึกอยากรับประทานอาหารในปริมาณมาก ควรแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ วันละหลาย ๆ ครั้งแทนการรับประทานมื้อใหญ่
- ดื่มเครื่องดื่มแคลอรี่สูง เช่น โปรตีนเชค เพื่อเพิ่มเติมสารอาหารให้กับร่างกาย
- ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น เดินครั้งละ 20 นาที หรือแบ่งการออกกำลังกายเป็นครั้งละ 10 นาที 2 ครั้งต่อวัน แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาขึ้นเท่าที่จะสามารถทำได้ จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น
- พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
- แจ้งแพทย์ทุกครั้งที่มีอาการของผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับสายตา
- หากผู้ป่วยมีการวางแผนว่าจะย้ายที่อยู่ขณะที่ทำการรักษา ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์เพื่อให้แพทย์ช่วยวางแผน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในการรักษาด้วยการใช้ยา แพทย์อาจใช้ผลการตรวจเพาะเชื้อเสมหะของผู้ป่วยเพื่อพิจารณาว่ายาชนิดใดเหมาะกับผู้ป่วยมากที่สุด และรับประทานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป โดยยาที่นิยมใช้ในการรักษาวัณโรคได้แก่ ไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) อีแทมบูทอล (Ethambutol) และไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide)
หากในการรักษา ผู้ป่วยมีอาการดื้อยา ก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มตัวยาบางชนิดเพื่อใช้ในการรักษา ซึ่งยาที่มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยดื้อยา เช่น ยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ยาลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin)
ทั้งนี้ ยาที่ใช้ในการรักษาวัณโรคอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ หรืออาเจียน คัน นอนไม่หลับ แต่จะมีอาการเพียงชั่วคราว แต่ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการเหล่านี้
- ความอยากอาหารลดลง
- ผิวซีด เหลือง
- ปัสสาวะมีสีเข้ม
- มีไข้ติดต่อกัน 3 วันขึ้นไปโดยไม่มีสาเหตุ
- หายใจลำบาก
- รู้สึกว่าหน้าท้องมีอาการแข็งหรือบวมผิดปกติ
- มีอาการบวมที่หน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ
- มีปัญหาเรื่องการมองเห็น เช่น เห็นภาพไม่ชัด หรือเห็นสีผิดปกติ
นอกจากนี้ ยารักษาวัณโรคอาจเป็นพิษต่อตับ โดยแพทย์อาจหยุดยาและให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจอื่น ๆ เช่น ระดับเอ็นไซม์ของตับ เพื่อกำหนดแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ผู้ป่วยควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายในระหว่างการรักษาด้วยยาเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง
วัณโรคเป็นโรคที่ต้องมีการติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้นในเวลา 1–2 สัปดาห์หลังจากเริ่มรักษา โดย 80% ของผู้ป่วยจะมีอาการดีชัดเจนขึ้นภายใน 3 เดือน และ 90% ของผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นมากหลังจาก 4 เดือน
ระยะเวลาในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ต้องรับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป โดยมีการตรวจเสมหะและเอกซเรย์ปอดเป็นระยะ